Name:  ความผิดปกติของหนังตา.jpg
Views: 36
Size:  9.5 KB

ความผิดปกติที่หนังตา

โดยปกติแล้วเราจะพบความผิดปกติที่หนังตาน้อยมาก แต่ที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

แผลหนูแทะ เป็นมะเร็งที่เกิดจากชั้นตาลึกของผิวหนังของตา ส่วนใหญ่จะพบที่หนังตาล่าง มักพบในผู้ที่ผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว โดยเฉพาะพวกที่ทำงานกลางแจ้ง โดยเริ่มมีแผลขนาดเล็กๆ ไม่เจ็บไม่ปวด ตรงกลางแผลจะบุ๋ม มีเลือดหรือน้ำเหลืองขังอยู่ ขอบแผลจะนูนสูงกว่าบริเวณใกล้เคียง แผลพวกนี้ไม่ยอมหาย แต่จะค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ
มะเร็งชั้นผิวหนังของตา พบได้น้อยกว่าแผลหนูแทะ และมักพบที่หนังตาบน ตรงกลางมักไม่บุ๋ม ลักษณะแผลสะอาด แผลพวกนี้จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ปานแดงที่หนังตา มักพบมาตั้งแต่กำเนิด อาจจะมีขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด หรือขนาดใหญ่จนลืมตาไม่ขึ้น จะโตตอนเวลาร้อง เวลาเพ่ง ไอ หรือจามได้ แต่ถ้าเด็กโตมากขึ้น เนื้องอกชนิดนี้จะค่อยๆ เล็กลง แต่จะมีปานแดงบางชนิดที่เป็นคล้ายๆ กัน แต่บริเวณกว้างกว่า และจะไม่หายไปเมื่ออายุมากขึ้น พวกนี้อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของตาอีกข้างหนึ่งได้ เช่น ต้อหิน เนื้องอกของเส้นเลือดภายในตาหรือตามที่ต่างๆ ได้


ไขมันที่เปลือกตา


ไขมันสะสมที่เปลือกตา เป็นก้อนนูนสีเหลืองที่เปลือกตา ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก แต่มักทำให้เกิดความกังวลว่าเป็นเนื้องอกร้ายแรงหรือไม่ อายุที่พบได้ตั้งแต่ 15-73 ปี โดยพบบ่อยที่สุดช่วงอายุ 40-50 ปี โดยตำแหน่งที่มักพบคือบริเวณหัวตา และมักเป็นที่เปลือกตาบนมากกว่าเปลือกตาล่าง
ลักษณะก้อนเป็นสีเหลือง อาจนุ่มหรือแข็งก็ได้ ก้อนไขมันที่สะสม เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถหายไปได้เอง และอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นช้าๆ ได้ ผู้ที่เป็นมักไม่มีอาการอะไรและก้อนที่เกิดขึ้นไม่มีผลต่อดวงตาหรือการมองเห็นแต่อาจมีผลด้านความสวยงาม ครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีก้อนนูนแบบนี้สัมพันธ์กับการมีไขมันในเลือดสูง
ผู้ที่พบไขมันที่เปลือกตาควรได้รับการตรวจไขมันในเลือด อย่างไรก็ตามการควบคุมระดับไขมันในเลือดไม่ได้ทำให้ก้อนไขมันที่สะสมที่เปลือกตาหายไปเองได้ ส่วนใหญ่หากมีปัญหาด้านความสวยงามอาจต้องผ่าตัด จี้ด้วยเลเซอร์ จี้ด้วยกรด จี้ไฟฟ้า หรือจี้ความเย็น
อาจเป็นซ้ำได้หลังการผ่าตัด พบการเป็นซ้ำได้ถึงร้อยละ 40 อาจเป็นซ้ำในปีแรกหลังการรักษา แต่การเป็นซ้ำก็ไม่ได้มีผลอันตรายต่อดวงตาหรือการมองเห็น


เปลือกตาอักเสบ

โรคเปลือกตาอักเสบเป็นสาเหตุของอาการระคายเคืองตาและตาแห้งที่พบได้บ่อย แต่มักถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอาการเรื้อรังของการระคายเคือง เปลือกตาของเราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือส่วนหน้าประกอบด้วยขนตาและต่อมรอบโคนขนตา ส่วนหลังประกอบด้วยต่อมไขมันที่เปลือกตา ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ลูกตา
ปัจจัยที่ทำให้มีการอักเสบของเปลือกตาอาจเกิดจากโรคต่างๆ รอบดวงตา เช่น ตาแห้ง ขนตางอกผิดทิศทาง เยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ เป็นต้น หรืออาจเกิดจากโรคทางกาย เช่นโรคผื่นไขมันอักเสบ
สาเหตุของเปลือกตาอักเสบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมีการเจริญเติบโตรอบๆ เปลือกตา ซึ่งตัวแบคทีเรียเองหรือสารที่แบคทีเรียสร้างขึ้นหรือภาวะที่มีภูมิคุ้มกันต่ำลงอาจเป็นสาเหตุให้เปลือกตามีการอักเสบขึ้นได้ ปัญหาหลักของการมีเปลือกตาอักเสบเรื้อรัง นอกจากมีอาการระคายเคืองแล้วอาจทำให้ขนตาผิดรูปร่างหรือผิดทิศทาง หรือทำให้เปลือกตาผิดรูปร่างมีการม้วนเข้าในหรือม้วนออกนอกได้ เมื่อขนตาหรือเปลือกตามีการผิดรูปร่างอาจทำให้เกิดการเสียดสีกับผิวกระจกตา เกิดกระจกตาอักเสบ กระจกตาขุ่นเป็นแผลเป็นได้ หรือในรายที่เป็นรุนแรงมากๆ กระจกตาอาจอักเสบจนทะลุได้
การรักษาต้องทำอย่างต่อเนื่องและอาจใช้เวลานาน ประคบอุ่นเพื่อให้ไขมันที่อุดตันตามต่อมไขมัน สามารถละลายออก ต่อมไขมันจึงจะสามารถทำงานได้ตามปรกติ ควรระวังไม่ให้วัสดุที่นำมาประคบร้อนเกินไป
ทำความสะอาดขอบเปลือกตาเพื่อกำจัดขี้ตา หรือสิ่งสกปรกที่ขนตา ซึ่งช่วยลดโอกาสการติดเชื้อด้วย วิธีการง่ายๆคือใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำอุ่นต้มสุก หรืออาจผสมแชมพูสำหรับเด็กอ่อนในน้ำอุ่น พอหมาดๆ แล้วนำมาฟอกขนตา และเช็ดบริเวณขอบเปลือกตา ควรระวังไม่ถูเปลือกตาแรงเกินไปเพราะจะทำให้เกิดแผลได้
การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดขี้ผึ้งทาบริเวณขอบเปลือกตาหลังทำความสะอาดเปลือกตาแล้ว ในผู้ป่วยที่การรักษาดังกล่าวข้างต้นยังตอบสนองไม่ดีนัก แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะชนิดกินร่วมด้วย เนื่องจากเปลือกตาอักเสบจะทำให้คุณภาพของน้ำตามีการเปลี่ยนแปลง เกิดภาวะตาแห้ง แพทย์จึงมักให้น้ำตาเทียมร่วมด้วย จะช่วยลดอาการระคายเคืองได้ การผ่าตัดพิจารณาในรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจะเปลือกตาอักเสบเรื้อรัง เช่น เปลือกตาม้วนเข้าใน หรือม้วนออกนอก หรือกระจกตามีแผลเป็นขนาดใหญ่


หนังตาม้วนเข้าใน

หนังตาม้วนเข้าในที่พบในเด็ก เกิดจากเนื้อขอบหนังตามาก จึงดันขนตาม้วนเข้าใน ขนตาจะเขี่ยนัยน์ตา ทำให้เด็กน้ำตาไหลง่าย ชอบขยี้ตา ถ้าเป็นเฉพาะที่ด้านในของหนังตา เมื่อโตขึ้นมักจะหายเอง แต่ถ้าเป็นตลอดแนวของหนังตาล่างจะไม่หายเอง ขนตาจะแยงตามาก การรักษาจึงต้องผ่าตัดโดยตัดเอาผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบริเวณใต้เปลือกตาออก แล้วเย็บให้ขนตาม้วนออก
ขนตาม้วนเข้าในที่พบในผู้สูงอายุ มีสาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อหนังตาหย่อน ส่วนใหญ่พบในหนังตาล่าง เวลาหลับตา หนังตาจะม้วนเข้า ขนตา และหนังตาจะระคายเคืองต่อตา ทำให้น้ำตาไหล ตาแดง และตาแฉะ การแก้ไข คือการถอนขนตาออก จะลดการระคายเคืองจากขนตาได้ประมาณ 6 - 8 สัปดาห์ ขนตาจะงอกใหม่ ต้องคอยถอนเรื่อยๆ กรณีที่ม้วนเข้ามากผิวหนังที่ม้วนเข้าจะระคายเคืองตาได้ อาจแก้โดยปิดเทป เพื่อดึงหนังตาออก แต่จะดูไม่สวยเพราะมีเทปปิดอยู่ และต้องเปลี่ยนเทปบ่อยๆ การผ่าตัดผิวหนังใต้ขอบตา และกระชับกล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง จะเป็นการแก้ไขหนังตาม้วนเข้าถาวรได้
ปัญหาที่สำคัญของภาวะนี้คือ ทำให้เกิดการระคายเคืองและเมื่อมีการถูไถของขอบเปลือกตา ขนตากับผิวกระจกตาดำ จะทำให้เกิดแผลถลอกที่กระจกตาดำ กรณีที่รุนแรงทำให้เกิดเป็นแผลเป็นที่กระจกตาดำได้
การรักษาด้วยยา กรณีที่เกิดจากการติดเชื้อ หรือการอักเสบของเยื่อบุตาบ่อยๆ แพทย์จะพิจารณาให้ยาเพื่อรักษาสาเหตุซึ่งอาจทำให้ภาวะหนังตาม้วนในดีขึ้น สำหรับน้ำตาเทียมหรือเจลหยอดตาอาจช่วยลดการระคายเคืองที่เกิดจากการสัมผัสระหว่างขนตากับตาดำได้
ผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับเยื่อบุตา เช่น Stevens-Johnson syndrome, ocular cicatricial pemphigoid อาจต้องใช้ยากินบางชนิดขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
การรักษาด้วยการผ่าตัดมักใช้ในกรณีที่เป็นแต่กำเนิด หรือเกิดจากการสูงอายุ หรือเกิดจากแผลเป็นที่เยื่อบุตาด้านในจากอุบัติเหตุ การโดนสารเคมี ซึ่งวิธีการผ่าตัดก็ขึ้นกับสาเหตุที่เป็น


หนังตาม้วนออก

หนังตาม้วนออกส่วนใหญ่จะเกิดกับหนังตาล่าง สาเหตุอาจจะเกิดจากอายุมากกล้ามเนื้อตาหย่อน ปลายประสาทที่มาเลี้ยวกล้ามเนื้อหนังตาไม่ทำงาน มีแผลเป็นที่ผิวหนังรั้งหนังตา
เมื่อหนังตาม้วนออก จะหลับตาไม่สนิท ทำให้แสบตาน้ำตาไหล ตาแดง ถ้ามีอาการน้อยหยอดตา และป้ายตาก่อนนอน จะลดอาการเหล่านี้ได้
ถ้ามีอาการมากต้องผ่าตัดกระชับหนังตา ซึ่งทำได้หลายวิธี ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นการตัดหนังตาหย่อนออกบางส่วนที่ปลายหางตา แล้วเย็บไว้บริเวณปลายหางตา


ขนตาแยงตา

เกิดจากแนวขนตาชี้ผิดแนว หรือเกิดจากหนังตาเคยเป็นแผล เกิดแผลเป็นรั้งขนตาให้ม้วนเข้า
ถ้าเป็นไม่มากใช้วิธีถอนขนตาออก ประมาณ 6 - 8 สัปดาห์ขนตาจะงอกใหม่ก็ถอนซ้ำ การจี้ต่อมขนตาด้วยไฟฟ้า อาจจะจี้ซ้ำ 2 - 3 ครั้ง ข้อเสียคือจะมีรอยแผลเป็นบริเวณที่จี้ได้
การจี้ด้วยความเย็น ข้อเสียคือผิวหนังตาอาจจะเปลี่ยนสี
วิธีสุดท้ายคือผ่าตัดเอาหนังตาบริเวณขนตาแยงออก


หนังตาตก

เปลือกตาเป็นอวัยวะที่สำคัญในการป้องกันลูกตา ขณะลืมตาปกติเปลือกตาจะคลุมขอบตาดำด้านบน และขอบเปลือกตาล่างจะอยู่ต่ำจากขอบตาดำไม่เกิน 1 มม. ถ้าขอบเปลือกตาบนต่ำกว่าปกติเราจะเรียกว่าภาวะหนังตาตก ส่วนใหญ่มักเป็นแต่กำเนิด จากสาเหตุของเส่นประสาทสมองคู่ที่ 3 ทำงานผิดปกติ หรืออาจมีก้อนเนื้องอกที่มีอยู่ในเปลือกตาบนถ่วงอยู่ก็ได้
หนังตาตกชนิดที่เป็นมาแต่กำเนิด เกิดจากกล้ามเนื้อยกหนังตาไม่พัฒนา ส่วนใหญ่ต้องแก้ด้วยการผ่าตัด และต้องตรวจตาก่อน ได้แก่ วัดสายตา ตรวจดูกล้ามเนื้อตา ตรวจเรื่องสายตาเอียง ตรวจดูประสาทตา ตรวจวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อยกหนังตา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าจะผ่าตัดด้วยวิธีการอะไร
กรณีที่หนังตาตกแต่กำเนิดบังรูม่านตา เด็กจะไม่ใช้ตาข้างนั้นจะต้องผ่าตัดเร็ว ถ้าไม่บังรูม่านตาสามารถรอจนโตได้ ถ้าหนังตาตกมาก กล้ามเนื้อยกหนังตามีแรงน้อยใช้วิธีผ่าตัดยกหนังตา ถ้าหนังตาตกไม่มาก ผ่าตัดโดยกระชับกล้ามเนื้อยกหนังตา
หนังตาตกที่ไม่ได้เป็นแต่กำเนิด เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ลายประสาทยกกล้ามเนื้อตาไม่ทำงาน กล้ามเนื้อยกหนังตาไม่ทำงาน จากการกระทบกระเทือน สาเหตุเหล่านี้ส่วนใหญ่รักษาทางยาได้ กรณีรักษาด้วยยาไม่หาย หรือการกระทบกระเทือนที่รอนานเกินหนึ่งปีแล้วไม่หายจะพิจารณาแก้ไขด้วยการผ่าตัด
ภาวะหนังตาตกในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กไม่ว่าจะเป็นข้างเดียว หรือเป็นทั้งสองข้าง อาจทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ เนื่องจากบังแนวการมองเห็น เด็กอาจเอียงศีรษะเพื่อช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น
ภาวะหนังตาตกแต่กำเนิด อาจเป็นในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ปัญหาที่พบนอกจากความสวยงามแล้ว ในกรณีหนังตาตกมากอาจทำให้ตาข้างนั้นไม่ได้รับการกระตุ้นให้พัฒนาเท่าที่ควร ทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจได้ การทดสอบง่ายๆที่ท่านสามารถทำได้คือ ให้ใช้ไฟฉายส่องกลางระหว่าง 2 ตา หากเงาไฟถูกบังด้วยหนังตาที่ตกแสดงว่าหนังตาตกรุนแรงควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อรับการผ่าตัดแก้ไข ส่วนกรณีหนังตาตกเล็กน้อยอาจรอจนเด็กอายุ 1-2 ขวบจึงพิจารณาผ่าตัดแก้ไขก็ได้


หนังตาหย่อน

เกิดจากผิวหนังบริเวณหนังตาหย่อนเมื่ออายุมากขึ้น อาจจะมีไขมันใต้ผิวหนังหย่อนออกมาด้วย ถ้าหนังตาหย่อนมาก จะทำให้มองด้านบน และด้านข้างได้น้อยลง ปวดหัวคิ้วจากการพยายามเปิดตา ถ้าเป็นมากจะกดขนตาให้ม้วนแยงตาได้
ผู้ที่มีอายุมากขึ้น หนังตาชั้นบนมักตกลง ทำให้ชั้นตาเล็กลง และหนังตามักจะมีรอยย่น หย่อนยานมากขึ้น โดยที่บางครั้งชั้นตาอาจตกลงมาปิดชั้นม่านตาได้ หรือทำให้ขนตาม้วนเข้าด้านใน ทำให้ระคายเคืองตาได้ หนังตาหย่อนอาจทำให้เกิดปัญหาด้านความสวยงามและการมองเห็น โดยอาจบดบังลานสายตาในการมองเห็นด้านบน อาจทำให้รู้สึกหนักตา หรือรู้สึกว่าหนังตาล่างบวมหรือมีรอยย่น
ผู้ป่วยมักมีอาการเกี่ยวกับการมองเห็น โดยหนังตาที่หย่อนมักทำให้บดบังลานสายตาด้านบน หรือมักจะบดบังเวลาอ่านหนังสือ หรือทำให้ลานสายตาในการมองเห็นด้านข้างเวลาขับรถลดลง ผู้ที่มีหนังตาหย่อนมากๆ ทำให้ต้องพยายามใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าผากในการยกหนังตา อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะหรือหัวคิ้วได้
การรักษาภาวะนี้คือการผ่าตัดหนังตาที่หย่อนออก วิธีการผ่าตัดคล้ายการผ่าตัดทำตาสองชั้น ซึ่งผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหนังตา หลังการผ่าตัดแพทย์มักแนะนำให้ประคบเย็น นอนศีรษะสูงเพื่อลดการบวมของหนังตา ดูแลเรื่องความสะอาดของแผลผ่าตัด หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง หรือมีการเบ่ง หรือการออกกำลังกายหนักๆ ในช่วง 2 สัปดาห์แรก
พิจารณาผ่าตัดหนังตาหย่อนเมื่อมีข้อบ่งชี้ดังกล่าว โดยการตัดหนังตาหย่อนออก และตัดไขมันออก แล้วเย็บแต่งชั้นตา วิธีการตกแต่งหนังตาบน เป็นวิธีการที่จะช่วยตัดไขมันใต้ตาและตัดหนังตาส่วนเกินออก ช่วยให้ชั้นตาใหญ่ขึ้น พร้อมกับลดไขมันที่ตาบนในบางตำแหน่งได้

ที่มา: http://www.bangkokhealth.com/health/...%E0%B8%B4-1427