Name:  img201812131433178.jpg
Views: 36
Size:  30.3 KB

รู้จักกับ ‘พล็อกกิ้ง’ เทรนด์วิ่งจากสวีเดน พร้อม 6 ข้อต้องรู้สำหรับผู้ที่จะเป็นนักวิ่งเพื่อสิ่งแวดล้อม

พล็อกกิ้งคืออะไร
Plogging เป็นการผสมคำระหว่างคำว่า Jogging กับ Picking up ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเมื่อปี 2016 โดย Erik Ahlström เริ่มวิ่งพร้อมกับเก็บขยะในสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน และกิจกรรมนี้ก็กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ในปี 2018 ตามความห่วงใยโลกในเรื่องมลพิษพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น โดยช่วงเวลาของการเวิร์กเอาต์ ร่างกายจะมีการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย ทั้งก้ม สควอท และยืดเหยียด ไปพร้อมๆ กับการวิ่ง ซึ่ง Lifesum แอพพลิเคชั่นสายสุขภาพได้ให้ข้อมูลว่า การพล็อกกิ้ง 30 นาที สามารถเผาผลาญพลังงานได้ 288 แคลอรี ในขณะที่การวิ่งเหยาะๆ เผาผลาญได้ 235 แคลอรี


สนุกกับ ECO Run ต้องทำอย่างไร
มีแค่ใจที่อยากออกกำลังกาย และอยากช่วยดูแลโลกเท่านั้นยังไม่พอ แต่ควรสำรวจความพร้อมของตัวเองซะก่อน แล้วค่อยออกตัววิ่งเหยาะๆ ไปเก็บขยะ

1.พกถุงไปด้วย เมื่อคุณเก็บขยะ คุณจะต้องใส่มันที่ไหนสักแห่งจริงไหม? BioBag หรือถุงขยะที่ย่อยสลายได้เป็นตัวเลือกที่ดีเลิศ แต่ถ้ารักโลกมากๆ อยากให้ใช้ถุงผ้า เพราะว่าสามารถซักกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือจะใช้ถุงกระดาษบางๆ ที่มีน้ำหนักไม่มากก็โอเค ทดลองใช้ถุงที่แตกต่างกันดู เพื่อหาว่าแบบไหนที่เวิร์กสำหรับคุณ โดยผูกไว้กับห่วงรัดเข็มขัดหรือกระเป๋าคาดเอว

2.เตรียมพร้อมที่จะสกปรก แน่นอนว่าคุณจะต้องสกปรกเล็กน้อยเมื่อเก็บขยะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากกระดาษ กระดาษห่อต่างๆ ขวดพลาสติก ข้อควรระวัง คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอะไรก็ตามที่ดูเหมือนจะเป็นขยะอันตราย อย่างเข็มฉีดยา แต่ถ้าไม่อยากสัมผัสกับขยะโดยตรง ถุงมือช่วยได้นะ อีกทางเลือกหนึ่ง คือพกเจลทำความสะอาดมือขวดเล็กๆ ไปด้วย แล้วก็ล้างมือให้สะอาดอีกครั้งเมื่อกลับถึงบ้าน

3.เลือกรองเท้าให้ดี ส่วนหนึ่งของความสนุกในการพล็อกกิ้ง คือการผจญภัย! คุณจะได้สำรวจเส้นทาง วิ่งไปตามถนนสายรอง ซึ่งอาจขรุขระบ้างในบางที ได้ทำความคุ้นเคยกับภูมิประเทศโดยรอบ และได้เห็นว่ามีขยะมากมายแค่ไหน! เพราะฉะนั้น สวมรองเท้าที่ทนทานแล้วออกไปผจญภัยซะ

4.สร้างเส้นทางพล็อกกิ้งของตัวเอง เมื่อคุณเริ่มสังเกตเห็นว่า เส้นทางพล็อกกิ้งประจำของคุณดูสะอาด นั่นแสดงว่าได้เวลาที่คุณจะต้องเปลี่ยนเส้นทางแล้วล่ะ ใช้แอพฯ MapMyRun หรืออะไรก็ได้ที่จะช่วยให้คุณวางแผนเส้นทางวิ่งใหม่ๆ เพื่อไปเก็บขยะ

5.ไม่จำกัดแค่การวิ่ง จริงอยู่ที่คำจำกัดความของคำว่า ‘พล็อกกิ้ง’ คือการวิ่งเหยาะๆ และแวะเก็บขยะ แต่ในความเป็นจริงคุณสามารถเก็บขยะได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะตอนวิ่งเท่านั้น ถึงจะชอบออกกำลังกายด้วยการเดิน ถ้าเก็บขยะไปด้วยก็ช่วยโลกได้เหมือนกัน

6.ทำแล้วบอกต่อ หัวใจของนักวิ่งสายรักษ์โลก คือแนวคิดที่ต้องการช่วยให้ผู้อื่นมีชีวิตที่ดี และเพื่อโลกของเรา ดังนั้น อย่าเก็บการกระทำง่ายๆ แต่ส่งผลอันยิ่งใหญ่ต่อโลกอย่างการพล็อกกิ้งไว้เป็นความลับ แต่ควรบอกเล่าให้คนอื่นรู้ว่า คุณได้ทำและสนุกกับมันแค่ไหน เรื่องของคุณอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ใครๆ ลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลโลกไปพร้อมๆ กับการออกกำลังกายก็ได้ ใครจะไปรู้

ที่มา : https://timeout.siamsport.co.th/activities/view/105407