Name:  p03006742_1.jpg
Views: 328
Size:  62.3 KB

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา

เป็นพื้นที่อนุรักษ์แห่งใหม่ของประเทศไทย ได้รับการประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2539

พื้นที่อนุรักษ์แห่งใหม่ของไทยที่ได้รับการประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2539 อันเป็นแนวชายแดนไทย-มาเลเซียนั้น มีพื้นที่ประมาณ 270,725 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทิวเขาสันกาลาคีรี แม้ป่าฮาลาและป่าบาลาเป็นป่าดงดิบที่ไม่ต่อเนื่องกัน แต่ก็ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผืนเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วยป่าฮาลา ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส กับป่าบาลาที่ครอบคลุมอำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยส่วนที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปศึกษาธรรมชาติได้คือป่าบาลาแห่งนี้เท่านั้น ซึ่งมีการตัดถนนสายความมั่นคง (ทางหลวงหมายเลข 4062) ไปตามเทือกเขาสันกาลาคีรี ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ป่าสะดวกง่ายดายขึ้น โดยเริ่มจากบ้านบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง ตัดผ่านป่าบาลา และไปสิ้นสุดที่ บ้านภูเขาทองในอำเภอสุคิริน รวมระยะทาง 18 กิโลเมตร ไฮไลต์แห่งผืนป่า เพียงขับรถไปตามถนนสายความมั่นคง คุณจะพบความมหัศจรรย์จากธรรมชาติมากมายที่ควรค่าแก่การศึกษา โดยมีไฮไลท์ที่น่าสนใจดังนี้ -ห่างจากสำนักงานฯ ประมาณ 5 กิโลเมตร คุณจะพบจุดชมสัตว์และมีต้นไทรขึ้นอยู่จำนวนมาก ซึ่งสัตว์มักจะมาหากินลูกไทรเป็นอาหาร -จากจุดชมสัตว์ ตรงเข้ามาอีกประมาณ 10 กิโลเมตร จะพบที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ภูเขาทอง ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายดังกล่าว ที่นี่เป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงาม -จากหน่วยพิทักษ์ภูเขาทอง เดินเข้าไปประมาณ 100 เมตร จะพบต้นสมพง (กระพง) ยักษ์ ขนาดเส้นรอบวง 25 เมตร ความสูงของพูพอนสูงประมาณ 4 เมตร (พูพอน คือ ส่วนที่อยู่โคนต้นไม้เป็นปีกแผ่ออกไปรอบ ๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นไม้ใหญ่ที่อยู่ริมน้ำ เพราะจะช่วยในการพยุงลำต้น) ต้นสมพงเป็นไม้ที่ชอบขึ้นตามริมน้ำ เป็นไม้เนื้ออ่อนใช้ทำไม้จิ้มฟันหรือไม้ขีด -นอกจากนี้สองข้างทางยังจะได้เห็นพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่ไม่อาจหาชมได้ง่าย ๆ จากที่อื่นในเมืองไทย เช่น o ต้นยวน ไม้ยืนต้นในวงศ์ถั่วที่สวยเด่นสะดุดตา มองเห็นได้แต่ไกล ด้วยผิวเปลือกขาวนวล และรูปร่างสูงชะลูด สามารถสูงได้ถึง 65-70 เมตรซึ่งถือว่ามีความสูงเป็นอันดับสามของโลก รองจากต้นเรดวูดและยูคาลิปตัส มักถูกตัดไปทำเฟอร์นิเจอร์ o ต้นสยา ไม้ในวงศ์ยางซึ่งเป็นไม้เด่นของป่าฮาลา-บาลา จากจุดชมวิวจะมองเห็นเรือนยอดของต้นสยาขึ้นเบียดเสียดกัน ถ้าลองซุ่มสังเกตดี ๆ อาจมีโอกาสพบนกเงือกบริเวณนี้ เพราะต้นสยาเป็นแหล่งทำรังสำคัญของนกเงือก o ต้นหัวร้อยรูหนาม อันเป็นไม้โขดที่ขึ้นเกาะตามคบไม้ในป่าดงดิบทางภาคใต้ของไทย จัดเป็นพืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ สัตว์ประจำถิ่น สัตว์ที่อาศัยอยู่ที่นี่ หลายชนิดเป็นสัตว์ที่หายากในไทย เช่น -ชะนีดำใหญ่ หรือ เซียมัง ซึ่งมีสีดำตลอดตัว และมีขนาดใหญ่กว่าชะนีธรรมดาเกือบเท่าตัว -ชะนีมือดำ ซึ่งปกติจะพบเฉพาะในป่าบนเกาะสุมาตรา บอร์เนียว และป่าบริเวณทางเหนือของมาเลเซียถึงทางใต้ของไทยเท่านั้น -กบทูด ซึ่งเป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความยาวจากปลายปากถึงก้น ประมาณ 1 ฟุต น้ำหนักกว่า 5 กิโลกรัม มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณป่าต้นน้ำบนภูเขาสูง- นกเงือก นกหายากที่เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า แต่ในป่าแห่งนี้พบนกเงือก 9 ใน 12 ชนิดที่พบในไทย ได้แก่ นกเงือกปากย่น นกเงือกชนหิน (เป็นนกเงือกชนิดเดียวที่มีโหนกแข็งทึบ ชาวบ้านในอินโดนีเซียจึงล่านกชนหิน เพื่อเอาโหนกไปแกะสลักอย่างงาช้าง) นกแก๊ก นกกก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวแรด นกเงือกดำ นกเงือกกรามช้าง- นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบสัตว์ป่าสงวน 4 ชนิด คือ เลียงผา สมเสร็จ แมวลายหินอ่อน และ กระซู่ ช่วงเวลาเหมาะสม ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีฝนตกลงมาไม่มากเกินไปนัก การเดินทาง สามารถเหมารถสองแถวได้ที่ตลาดอำเภอแว้ง หรือสถานีรถไฟสุไหงโกลก หรือขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 4057 มุ่งหน้าไปยังอำเภอแว้ง จนถึงบ้านบูเก๊ะตา จะมีป้ายบอกทางให้ขับต่อไปทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา นักท่องเที่ยวควรรู้ ผู้ที่มีความประสงค์เข้าพื้นที่เพื่อศึกษาธรรมชาติ ต้องทำหนังสือแจ้งความประสงค์มาล่วงหน้า ที่เขตรักษาพันธุ์สัตวป่าฮาลา-บาลา ตู้ ปณ. 3 อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส 96160 หรือฝ่ายกิจการเขตรักษาพันธุ์ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th ด้วยพื้นที่เขตรักษาพันธุ์เป็นพื้นที่เปราะบาง จึงไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปพักแรม

ที่มา: https://thai.tourismthailand.org/Att...B8%A5%E0%B8%B2