Name:  1519365503338.jpg
Views: 503
Size:  83.2 KB

กีฬาอาชีพจัดเป็นธุรกิจกีฬาที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเป็นแหล่งที่สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาลและสามารถสร้างอาชีพให้แก่ นักกีฬา ผู้ตัดสิน ผู้ฝึกสอน และบุคลากรวิชาชีพ อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการจัดให้มีการแข่งขันกีฬาอาชีพก็เป็นปัจจัยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและยังช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศให้เป็นที่รู้จักในประชาคมกีฬาโลก

ดังนั้นการกีฬาแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ ไว้อย่างชัดเจนว่า “พัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อการอาชีพให้สามารถสร้างความสุขและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสังคมด้วยระบบบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน” พร้อมทั้งจัดสรรเงินงบประมาณจำนวนมากเพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาการกีฬาเพื่อการอาชีพดังจะเห็น ได้จากการขอเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันจักรยานยนต์ระยะเวลา ๓ปี โดยมีการกำหนดแผนการทำงานค่อนข้างชัดเจนไว้ว่าจะให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนานักกีฬาและบุคลากรกีฬาอย่างครบวงจร พัฒนาระบบและกลไกการจัดการแข่งขันให้มีมาตรฐานสากลมีกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพทางการกีฬาที่เหมาะสมและทันสมัยรวมถึงการสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันผลิตบุคลากรกีฬาอาชีพ ส่งเสริมการรวมกลุ่มสมาชิกองค์กรสโมสรกีฬาอาชีพ พัฒนาระบบบริหารสนับสนุนการจัดสรรทุนและสวัสดิการกีฬาอาชีพ คุ้มครองและรักษาสิทธิหรือผลประโยชน์รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้องค์กรเอกชนร่วมส่งเสริมกีฬาอาชีพ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนากีฬาสากลที่มีศักยภาพและให้เป็นกีฬาอาชีพอย่างยั่งยืนในปัจจุบันกีฬาที่ได้รับการประกาศใน พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.๒๕๕๖ให้เป็นกีฬาอาชีพมีอยู่ ๑๓ ชนิด ได้แก่

๑.ฟุตบอล
๒.สนุกเกอร์
๓.กอล์ฟ
๔.เจ็ตสกี
๕.วอลเลย์บอล
๖.ตะกร้อ
๗.โบว์ลิ่ง
๘.จักรยาน
๙.แข่งรถยนต์
๑๐.แบดมินตัน
๑๑.จักรยานยนต์
๑๒.เทนนิส
๑๓.บาสเก็ตบอล

แต่ก็มีข้อสังเกตจากมุมมองนักวิชาการด้านการจัดการกีฬาว่าการจะกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาธุรกิจกีฬา อาชีพให้เติบโตทั้ง ๑๓ ชนิดกีฬานั้นนับว่าเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับฝ่ายกีฬาอาชีพฯซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ และต้องถูกประเมินประสิทธิภาพในการทำงานเพราะธุรกิจกีฬาอาชีพจะต้องมีการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายทางการตลาดอย่างชัดเจนโดยพิจารณาจากสถานะรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ดังนี้

๑.ระดับรากหญ้า
๒. ระดับชั้นกลาง
๓.ระดับชั้นสูง

ซึ่งในแต่ละระดับจะมีกำลังซื้อแต่ละชนิดกีฬาอาชีพ ไม่เท่ากันโดยดูได้จากตัวชี้วัดทางรายได้เป็นหลักในการพิจารณาก่อน เช่น รายได้จากการขายบัตรชมการแข่งขัน รายได้จากการขายของที่ระลึก ในปัจจุบันก็พอจะมองเห็นว่า มีกลุ่ม “ยืนได้ด้วยตนเอง” กลุ่ม “ต้องช่วยพัฒนา” กลุ่ม “ยังไม่พร้อม” เพราะเมื่อไม่มีคนซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขัน ผู้สนใจเป็นผู้สนับสนุนการถ่ายทอดการแข่งขันหรือการเป็นสปอนเซอร์ทีมก็จะมีจำนวนน้อยเพราะจากมุมมองของนักธุรกิจจะจัดเป็นกีฬาอาชีพที่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนจึงไม่ให้เงินสนับสนุนการแข่งขันจึงส่งผลกระทบต่อการหาเลี้ยงชีวิตของนักกีฬาอาชีพและผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ดังนั้นเพื่อหาแนวทางการสนับสนุนที่เหมาะสม การกีฬาแห่งประเทศไทย ควรจะพิจารณาเปลี่ยนแปลง ตัวชี้วัดของกีฬาอาชีพ ๑๓ ชนิด ให้มีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของวงจรธุรกิจกีฬา ( Product Life Cycle ) ที่มีความพร้อมที่แตกต่างกันซึ่งจะดีกว่าการใช้ตัวชี้วัดแบบเดียวกันหมดเพราะไม่มีรองเท้าคู่เดียวใส่ได้ทุกคน การเปิดกว้างเพื่อสร้างความเข้าใจในปัญหาของแต่ละชนิดกีฬา ที่ไม่เหมือนกันก็จะช่วยส่งเสริมและพัฒนากีฬาอาชีพทั้ง ๑๓ ชนิดให้ประสบความสำเร็จได้

ดร.สมทบ ฐิตะฐาน
นายกสมาคมการจัดการกีฬาแห่งประเทศไทย
ประธานหลักสูตรปริญญาโทสาขาการจัดการการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา: http://www.smat.or.th/view/5a8faf2c46d46a0cde6fb3ef