เครื่องยนต์สั่นเกิดจากอะไร รวม 5 สาเหตุที่พบบ่อย สำหรับเครื่องยนต์สั่นจนน่ารำคาญ พร้อมวิธีการตรวจเช็ก แก้ไข มีอะไรบ้าง มาดูกัน!

เครื่องยนต์สั่น อาจอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ใช้รถอาจต้องเคยประสบพบเจอ ทั้งขณะขับรถ รอบเดินเบาไม่นิ่ง หรือสะดุดกึก ๆ ระหว่างขับขี่ แม้จะเป็นปัญหาที่ดูเหมือนไม่ร้ายแรงมาก แต่ก็สร้างความน่ารำคาญได้เยอะพอสมควรเลยทีเดียว ซึ่งอาการเครื่องยนต์สั่นสะท้านนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุเชียวล่ะ!

Name:  img-0672-afa0.jpg
Views: 203
Size:  88.5 KB

5 สาเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์สั่น

1. มอเตอร์ควบคุมรอบเดินเบาสกปรก
มอเตอร์ควบคุมรอบเดินเบา หรือไอเดิ้ล วาล์ว (Idle Speed Control) จะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณการไหลของอากาศ ส่งผลต่อรอบเดินเบา โดยอุปกรณ์นี้นี้จะควบคุมรอบเดินเบาไม่ให้เครื่องรอบตกนั่นเอง และเมื่อเกิดสิ่งสกปรกอุดตัน ไอเดิ้ล วาล์ว จะเกิดอาการติดขัดระหว่างการทำงานได้

วิธีดูแลและแก้ไข
วิธีการแก้ไขนั้นไม่ยาก เมื่อสกปรกก็ต้องนำมาล้างและทำความสะอาดใหม่ แต่ถ้ายังพบปัญหาเดิม ๆ อยู่ ควรเปลี่ยนไอเดิ้ล วาล์ว ใหม่จะดีที่สุด เพื่อตัดปัญหาเครื่องยนต์สั่นนั่นเอง

2. ยางแท่นเครื่องเสื่อม
อีกหนึ่งสาเหตุยอดนิยมที่ทำให้เครื่องยนต์สั่น ขณะอยู่ในช่วงรอบเดินเบา อาจเกิดจากยางแท่นเครื่องชำรุด เนื่องจากยางแท่นเครื่องมีหน้าที่ดูดซับแรงสั่นสะเทือนขณะที่เครื่องกำลังหมุน เมื่อใช้งานไปนาน ๆ จะเกิดอาการเสื่อมหรือฉีกขาด ทั้งนี้ หากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเหยียบคันเร่งให้รอบเครื่องสูงขึ้น อาการสั่นจะหายไปก็จริง แต่อาจทำให้ลูกยางแท่นเครื่องขาดได้

วิธีดูแลและแก้ไข
ถ้ายางแท่นเครื่องชำรุด ควรให้ช่างเปลี่ยนยางแท่นเครื่องใหม่ ซึ่งโดยปกติแล้ว เมื่อมีอายุการใช้งานครบ100,000 กิโลเมตร ควรเปลี่ยนใหม่ แต่ถ้ารถของคุณไม่ได้ใช้งานหนัก หรือเห็นว่ายางแท่นเครื่องยังมีสภาพดีอยู่ อาจจะใช้งานต่ออีกสักพักแล้วค่อยเปลี่ยนใหม่ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น เมื่อเจอทางขรุขระ, ลูกระนาด, หลุม, หรือเศษหินเกลื่อนกลาดอยู่ตามพื้นถนน ควรลดความเร็วลง หรือใช้ความเร็วต่ำ

3. ลิ้นปีกผีเสื้อสกปรก
ลิ้นปีกผีเสื้อสกปรก เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้รอบเครื่องยนต์สวิง ไม่นิ่ง และสั่น เนื่องจากปีกผีเสื้อมีหน้าที่ควบคุมอากาศที่เข้ามาในห้องเผาไหม้ เมื่อใช้งานไปนาน ๆ จะมีคราบน้ำมัน, คราบเขม่า และฝุ่นละอองมาเกาะ ซึ่งนอกจากจะมีส่วนทำให้เครื่องยนต์ทำงานไม่ราบเรียบแล้วยังและกินน้ำมันขึ้นกว่าปกติด้วย

วิธีดูแลและแก้ไข
ควรถอดลิ้นปีกผีเสื้อออกมาล้างทำความสะอาด โดยอาจใช้บริการศูนย์บริการ หรือทำด้วยตัวเองก็ได้หากมีทักษะและเครื่องมือ เพราะไม่ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม เมื่อลิ้นปีกผีเสื้อมีอายุการใช้งานประมาณ 20,000-30,000 กิโลเมตร ควรนำมาทำความสะอาด เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น

4. หัวเทียนเสื่อมสภาพ/ หัวเทียนสูบใดสูบหนึ่งไม่ทำงาน
หากรถของคุณมีอาการอาการสั่นจากเครื่องยนต์ เดินไม่เรียบ หรือสตาร์ตติดยาก เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากหัวเทียนชำรุด เพราะหัวเทียนมีหน้าที่จุดระเบิดและส่งกระแสไฟ เพื่อทำให้เกิดการระเบิดจนผลักให้ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้น-ลง จนสามารถขับเคลื่อนเครื่องยนต์ได้ หากเสื่อมสภาพหรือมักเรียกกันว่าหัวเทียนบอด มักจะเกิดอาการดังกล่าว เนื่องจากหัวเทียนจุดประกายไฟไม่สม่ำเสมอนั่นเอง

วิธีดูแลและแก้ไข
เมื่อรถของคุณมีอาการเช่นนี้ ให้ลองสังเกตหัวเทียนว่ามีสภาพเป็นอย่างไร หากสึกกร่อน หรือเต็มไปด้วยคราบเขม่า, คราบน้ำมัน ควรเปลี่ยนใหม่ทันที ซึ่งเราขอแนะนำว่าให้เปลี่ยนใหม่พร้อมกันทุกหัว เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น (แล้วแต่จำนวนกระบอกสูบหรือรูปแบบเครื่องยนต์ เช่น Twin Spark ก็จะใช้หัวเทียนมากหน่อย)

5. สายท่อ Vacuum รั่ว
อีกสาเหตุหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ หากรถของคุณมีอาการสั่น, รอบเดินเบาไม่นิ่ง, จะดับไม่ดับแหล่ และต้องคอยเร่งเครื่องตลอดเวลานั้น อาจเกิดจากสายท่อ Vacuum รั่วในจุดใดจุดหนึ่ง เนื่องจากท่อ Vacuum มีหน้าที่ช่วยเร่งไฟจุดระเบิดในรอบเดินเบา ให้เครื่องยนต์ไม่สั่น

วิธีดูแลและแก้ไข
เบื้องต้น ให้ตัดปลายสายที่ปริแตกออกก่อน แล้วเสียบกลับคืนใหม่ แต่ถ้ายังพบปัญหาเดิม ควรเปลี่ยนสายท่อ Vacuum ใหม่ “ทุกเส้น” ในเครื่องยนต์ เพราะหากมีเส้นหนึ่งแตกแล้ว เส้นอื่น ๆ ต้องปริแตกตามอย่างแน่นอน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ “เครื่องยนต์สั่น” เท่านั้น อย่างไรก็ตามผู้ใช้รถควรสังเกตและตรวจสอบว่ารถของท่านมีอาการเป็นอย่างไร เพื่อจะได้แก้ไขได้อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ควรหมั่นเช็กสภาพเครื่องยนต์ และดูแลรักษารถของท่านให้สมบูรณ์ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานกว่าเดิม

ที่มา: https://khaorot.com/car-care-and-mai...91113180940730