Name:  b3f25be54c52028534914abafe9c5a_920_460_fit.jpg
Views: 66
Size:  26.4 KB

"กุด" เป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง บริเวณที่น้ำจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกันกลายเป็นแอ่งน้ำ บึง หรือหนองน้ำขนาดใหญ่ คำว่า "ทิง" สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "กระทิง" กุดทิง จึงมีความหมายว่า เป็นแหล่งน้ำที่มีวัวกระทิงลงมากินน้ำเป็นจำนวนมาก

หนองกุดทิง มีเนื้อที่ประมาณ 16,500 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากตัวอำเภอบึงกาฬ ประมาณ 5 กิโลเมตร มีรูปร่างที่มองจากทางอากาศ คล้ายกับปีกผีเสื้อ หนองกุดทิงมีระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ระดับความลึกของแหล่งน้ำประมาณ 2 - 5 เมตร และในฤดูน้ำหลาก อาจลึกมากสุดถึง 10 เมตร เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์น้ำกว่า 250 สายพันธุ์ พืชน้ำกว่า 200 ชนิด นกหลายหลากพันธุ์ ประชากร ประมาณ 23,000 คน จากชุมชนกว่า 40 ชุมชน ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงในด้านต่างๆ เช่น ใช้เป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ซึ่งก่อเกิดเป็นความมั่นคงทางอาหาร ทางสังคมและเศรษฐกิจต่อชุมชนเหล่านั้น

อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) เป็นอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ มีการประชุมและร่างปฏิญญาครั้งแรกที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน เมื่อปี พ.ศ. 2514 มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำของโลกโดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่ประกอบด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมและสังคมที่ดำรงคุณค่านานัปการ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 นับเป็นลำดับที่ 110 ของภาคีอนุสัญญาฯ โดยเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย

สำหรับหนองกุดทิง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ลำดับที่ 12 ของประเทศไทย และลำดับที่ 1733 ของโลก ในปี พ.ศ. 2551

ที่มา: https://thai.tourismthailand.org/%E0...E0%B8%87--6311