Name:  img201907121735374.jpg
Views: 39
Size:  24.2 KB

การเข้าแคมป์ 'พรี-ซีซั่น' วันแรกของ 'ลิเวอร์พูล' สิ่งที่นักเตะต้องเจอ คือ 'การตรวจแลคติก' ที่ 'เจอร์เก้น คล็อปป์' ทำมาทุกปี วิธีนี้ ไม่ใช่วิธีใหม่ เพราะใช้กันมานานแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ เจอร์เก้น คล็อปป์ เป็นอีกหนึ่งในกุนซือที่ดึงมาใช้ตั้งแต่วันแรก

เพราะหลังจบฤดูกาล นักเตะ มีโอกาสกลับไปพักผ่อน หรืออยู่กับที่บ้าน ความหย่อนยานในเรื่องร่างกาย ก็อาจจะเกิดขึ้นได้

'การตรวจกรดแลคติก' (Lactate test) มีเป้าหมาย คือ การทดสอบสมรรถภาพความอดทนของนักเตะว่าอยู่ระดับไหนยังไง?

เพราะ ลิเวอร์พูล เป็นหนึ่งในทีม ซึ่งใช้แผนการเล่นเพรสซิ่งหนักหน่วง ความอึดของนักเตะ เลยกลายเป็นเรื่องที่สำคัญ

และ 'กรดแลคติก' เป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องนี้ เพราะมีผลกับสมรรถภาพของนักเตะว่า จะยืนระยะได้ประมาณไหนยังไง?

กรดแลคติก มาจากการย่อยสลาย, สังเคราะห์โดยกลูโคส หรือเมื่อเกิดการสร้างพลังงานทดแทน กรดแลคติก คือ ของแถม

อย่างไรก็ตาม กรดแลคติก นั้น ก็สามารถกลายเป็นพลังงาน (แม้ว่าจริงๆ อาจดูเป็นของเสีย) ให้ร่างกายใช้ได้ด้วยเหมือนกัน

แต่ กรดแลคติก จะถูกผลิตออกมาแค่ช่วงที่ร่างกายต้องทำงานหนักขึ้น เช่น การวิ่งเร็วขึ้น หรือวิ่งนานขึ้น กว่าระดับปกติก่อนหน้านี้

หลังจากออกซิเจน มีไม่พอต่อการเผาผลาญแบบปกติ จนพลังงานหลักหมดไป พลังงานสำรอง และกรดแลคติก จึงเข้ามาทดแทน

จุดนี้ ถือว่า จำเป็นมาก สำหรับนักกีฬา ประเภทจักรยาน, วิ่งระยะกลาง หรือระยะไกล รวมไปถึงกีฬาอย่าง ฟุตบอล ด้วยเช่นกัน

ข้อดี คือ ถ้าปริมาณกรดแลคติก สมดุลกับปริมาณที่เซลล์ขับออกได้ และไม่เกิดการสะสมมากไป ก็จะใช้เป็นพลังงานได้ด้วย

***(ขึ้นอยู่กับระดับน้ำในร่างกาย, การยืด-หดตัวของกล้ามเนื้อ, สารอาหาร ฯลฯ)

ทำให้มีประโยชน์ในแง่ความอึด, สมรรถภาพร่างกายที่ทนทานต่อการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา ได้แบบต่อเนื่องยาวนานขึ้น

แต่... ถ้ากรดแลคติก ถูกแปรรูปช้า และมีการสะสมมากไป จะมีผลต่อการทำงานของเซลล์ และค่า PH ของร่างกายให้เป็นกรด

ข้อเสีย คือ การมีกรดแลคติกสะสมมากไป จะทำให้กล้ามเนื้อล้า, ปวดแสบปวดร้อน จนประสิทธิภาพของร่างกายตกลงไป

แต่ถ้าว่าตามทฤษฎีแล้ว นั่นก็คือ กลไกอัตโนมัติในการป้องกันตนเองจากความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าของระบบร่างกายด้วย

โดยในการทดสอบ นักเตะลิเวอร์พูล จะถูกเจาะใบหู หลังวิ่งด้วยความเร็วต่ำหมดรอบ เพื่อเอาเลือดไปตรวจปริมาณกรดแลคติก

จากนั้น เพิ่มความเร็วในการวิ่งให้มากขึ้น แล้วตรวจซ้ำ เพื่อดูว่า กรดแลคติก เกิดการสะสมสูงสุดมากแค่ไหน หรือประมาณไหน?

หรืออีกนัยหนึ่ง เรียกว่า เป็นการทดสอบสมรรถภาพขั้นสูงสุด ในสภาวะซึ่งไม่มีการเพิ่มขึ้นของกรดแลคติกว่า เป็นยังไง?

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ ที่ต้องดูควบคู่กับปริมาณกรดแลคติกด้วยว่า มีความสัมพันธ์กันยังไง?

ผลที่ได้ นอกจากรู้ว่า ใครอึดสุด? หรือวิ่งชนะในรอบสุดท้าย ค่าของกรดแลคติกที่ได้มา จะนำไปสู่การประเมิน และพัฒนา

เพื่อสร้างแรงต้านทาน ต่อกลไกตามระบบของร่างกาย ด้วยการพยายามลดการสะสมของกรดแลคติก ไม่ให้มีมากเกินไป

ซึ่งมีอยู่หลากหลายแนวทาง ตั้งแต่แบบพื้นฐานยันขั้นสุด เช่น การรักษาระดับน้ำในร่างกาย, ระบบหายใจ, ความถี่ของการฝึกซ้อม

หรือการยืดกล้ามเนื้อ, เน้นสารอาหาร พวกโพแทสเซียม, กรดไขมันดี, วิตามินบี ฯลฯ หรือออกแบบโปรแกรมเทรนนิ่งให้เหมาะสม

วิธีนี้ มีใช้งานกันอยู่หลายทีมที่เน้น 'พลัง' เป็นพื้นฐานอย่างแรก ในการต่อสู้บนโลกฟุตบอลยุคใหม่ ที่ว่าใครอ่อนแอก็แพ้ไป

โดย 'ลิเวอร์พูล' ก็เป็นอีกทีม ที่เน้นเรื่องนี้มาก สำหรับเดินหน้าล่าทุกแชมป์ ซึ่งจุดเริ่มต้น มาจากเรื่อง 'กรดแลคติก' นี่แหละ


ขอบคุณข้อมูล และภาพจาก: https://timeout.siamsport.co.th/health/view/140542