Name:  img202101141605671.jpg
Views: 354
Size:  15.0 KB

แม้ผิดหวังกับ รัสเซีย มา ในปี 2018 แต่ ฟีฟ่า เชื่อว่า ที่ กาตาร์ จะกลายเป็นบอลโลก เวอร์ชั่น ‘โซลาร์ เซลล์’ อย่างที่คาดหวังไว้ ในปี 2022 นี้ หลังจากมีข่าวว่า พวกเขาเดินหน้าประมูลหาตัวผู้ให้บริการ มาตั้งแต่ปี 2010

จากกระแสพลังงานทดแทนแบบยั่งยืน และสนามฟุตบอลนั้นถือเป็นสถานที่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบมหาศาล ฟีฟ่า ก็เลยสร้างแนวคิด ‘โซลาร์ สเตเดีย’ ซึ่งเกิดขึ้นมาไล่เลี่ย กับโครงการชื่อว่า ‘กรีน โกล์’ ของพวกเขาด้วย โดยมีเป้าหมายคือ เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เข้าไปสู่โครงสร้างพื้นฐานในสนามฟุตบอลมากขึ้น ไว้ใช้รองรับการแข่งขันฟุตบอล ยูโร หรือ ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ และแนวคิด โซลาร์ สเตเดีย มีมาตั้งแต่ปี 2003 แล้ว

แต่กว่าจะตั้งไข่ได้ ต้องรอจนถึง ฟุตบอลโลก 2006 ที่ เยอรมนี ตามมาด้วย ยูฟ่าคัพ 2008 ที่ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งองค์กรที่มีส่วนร่วมในแนวคิดนี้คือ Yingli Solar กับ Jinko Solar สองบริษัท โซลาร์ เซลล์ จากประเทศจีน จากนั้นอีกหลายปีต่อมา ฟีฟ่า ก็เริ่มปลาบปลื้มมากขึ้นในเรื่องนี้ กับฟุตบอลโลก 2014 ที่ บราซิล เป็นเจ้าภาพ เพราะ 5 ใน 12 สนามฟุตบอลของพวกเขา มีการติดตั้งแผง โซลาร์ เซลล์ โชว์ตระหง่าน บริเวณหลังคาสนาม

ถึงอีก 4 ปีต่อมา ฟีฟ่า จะฝันสลาย เมื่อสนามฟุตบอลในประเทศรัสเซีย ไม่มีการติดตั้งแผง โซลาร์ เซลล์ เลย แต่กับ กาตาร์ เจ้าภาพรอบถัดไป พวกเขามองว่า น่าจะทำให้แนวคิด โซลาร์ สเตเดีย เติบโตมากขึ้นในเอเชีย เพราะการที่พวกเขาต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่สนาม ทำให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าปกติหลายเท่า และ โซลา เซลล์ ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วในการลดใช้พลังงานไฟฟ้าหลัก แม้จะไม่ได้ช่วยทั้งหมดก็ตาม

ซึ่ง กาตาร์ ก็ตอบสนองได้ดี โดย 5 สนามแรกที่พวกเขานำเสนอ ฟีฟ่า มาพร้อมกับระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยสนับสนุนพลังงานไฟฟ้า สำหรับเครื่องปรับอากาศที่มีหน้าที่ลดอุณหภูมิเป็น 20 องศา จาก 36 องศา

ที่สำคัญพวกเขายังเลือกใช้พลังงาน ‘ลม’ มาเสริมด้วยใน 3 สนาม เรียกว่า จัดเต็มมาก เรื่องพลังงานทดแทน ขณะที่ภาพรวมของสนามฟุตบอลทั่วโลกนั้น ถือว่า เติบโตขึ้นมากที่สุด โดยเฉพาะโซนยุโรป และอเมริกาใต้ ตัวอย่างเช่น สนามของทีม อันตัลยาสปอร์ ในลีกตุรกี กับสนามของทีม บีเอสซี ยัง บอยส์ ในสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงสนามของทีมดังอย่าง แวร์เดอร์ เบรเมน, นีซ, อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ซึ่งมีแผง โซลาร์ เซลล์ ติดตั้งไว้

โดยสนามฟุตบอลที่ติดตั้งแผง โซลาร์ เซลล์ แบบอลังการที่สุดก็คือ สนามของทีมชื่อ ‘บราซิลเลีย & ลีเจนด์’ ซึ่งมีการติดตั้ง โซลาร์ เซลล์ ขนาด 2,500 kWp (กิโลวัตต์สูงสุดของแผงโฟโตโวลเทอิก) จำนวน 9,600 ตัว

แม้การติดตั้งระบบพลังงานสุริยะ หรือโซลาร์ เซลล์ จะใช้ต้นทุนสูงอยู่ เมื่อเทียบกับปริมาณไฟฟ้าที่ใช้งานได้ แต่ ฟีฟ่า แอบหวังว่า เมื่อเวลาผ่านไป และระบบนี้มีราคาต่ำลง จะมีการหันมาติดตั้ง โซลาร์ เซลล์ กันมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูล และภาพจาก: https://timeout.siamsport.co.th/tech/view/221805