เบรกแตก มีสาเหตุมาจากอะไร ควรทำอย่างไรเมื่อเจอเบรกแตก และต้องป้องกันได้อย่างไร

อาการเบรกแตก เป็นอย่างไร? พูดให้เห็นภาพแบบง่าย ๆ ก็คือ เมื่อเหยียบเบรกจนสุดแล้วรถไม่หยุด ชะลอรถไม่ได้ เบรกไม่อยู่ เพราะระบบเบรกไม่ทำงาน นี่แหละคืออาการเบรกแตก

Name:  hard-brake-pedal-intermittent-1e3b.jpg
Views: 99
Size:  31.7 KB

เบรกแตกมีสาเหตุมาจากอะไร?

อาการเบรกแตก เกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากการเสื่อมสภาพของชิ้นส่วนที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้ำมันเบรกรั่ว เพราะกระบอกปั๊มล้อเสื่อมสภาพ ท่อทางเดินน้ำมันเบรกแตก, น้ำมันเบรกหมด, น้ำมันเบรกชื้น, สายเบรกขาด หรือผ้าเบรกไหม้ ส่วนอีกสาเหตุมาจากพฤติกรรมการขับขี่ที่มักเบรกกะทันหัน ทำให้น้ำมันเบรกเอาความร้อนไปกระจายสู่ชิ้นส่วนอื่น ๆ ไม่ทัน จึงส่งผลให้ลูกเบรกขาดแรงในการดันผ้าเบรก

วิธีปฏิบัติเมื่อรถเบรกแตก

ตั้งสติ-เปิดไฟฉุกเฉิน

1. หากเบรกแตก สิ่งแรกที่ต้องทำคือตั้งสติให้มั่น และจับพวงมาลัยให้แน่น จากนั้นก็เปิดไฟฉุกเฉิน เพื่อส่งสัญญาณให้รถคันอื่น ๆ ที่อยู่รอบข้างได้ทราบถึงความผิดปกติ

ลดความเร็วโดยการลดเกียร์

2. พยายามลดความเร็วลง หากเป็นเกียร์ธรรมดาให้การเหยียบคลัตช์แล้วลดเกียร์ลงเรื่อย ๆ แต่ถ้าเป็นเกียร์ออโต้ ให้ค่อย ๆ เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ โดยดึงจากตำแหน่ง D ไล่ลงมา 3 ไปที่ 2 และ L ตามลำดับ ห้ามดึงเกียร์ลงมาพรวดพราดเพราะอาจทำให้เกิดการพลิกคว่ำได้ แถมเครื่องยนต์ยังมีโอกาสพังอีกด้วย

ชิดซ้ายให้ไวที่สุด

3. ชิดซ้ายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และห้ามเติมคันเร่งเป็นอันขาด ให้ค่อย ๆ ไป หากมีรถขวางอยู่ในบีบแตรเพื่อส่งสัญญาณขอทาง

กรณีที่เหตุเกิดบนทางลาด ก็ให้ทำคล้าย ๆ กันคือตั้งสติ จับพวงมาลัยให้มั่น เปิดไฟฉุกเฉิน แล้วพยายามลดความเร็ว โดยเริ่มจากลดเกียร์ต่ำลงก่อน และไม่ควรใช้เบรกมือช่วยจนกว่าจะถึงทางราบหรือเส้นทางที่มีความชันน้อย

เบรกแตก ป้องกันได้อย่างไร?

ป้องกันเบรกแตก เบรกเสื่อมสภาพได้ง่าย ๆ โดยการเปลี่ยนน้ำมันเบรกทุก ๆ 1 ปี เพื่อไล่ความชื้นที่ปะปนอยู่ในน้ำมันเบรก และป้องกันการสึกหรอที่อาจทำให้ลูกยางเบรกรั่ว และควรใช้ผ้าเบรกที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐาน โดยหมั่นตรวจสอบผ้าเบรกทุก ๆ 3 เดือน หรือ 5,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ ไม่ควรปล่อยให้จานเบรกบาง เพราะอาจทำให้ลูกสูบเบรกหลุดจนเกิดการเบรกแตกได้

อาการเบรกแตกมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการเสื่อมสภาพของชิ้นส่วน แต่สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ผู้ใช้รถควรหมั่นดูแลรักษาชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในรถอย่างเป็นประจำ เพื่อป้องกันการสึกหรอและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน

ที่มา: https://khaorot.com/car-care-and-mai...10506153617193