เคยสังเกตกันหรือไม่ว่าอายุแบตเตอรี่รถยนต์ใช้ได้กี่ปี เมื่อไรควรถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนใหม่หรือรอไปจนกว่าจะเกิดปัญหาสตาร์ตไม่ติดซึ่งอาจส่งผลเสียได้มากกว่าที่คิด
อายุแบตเตอรี่รถยนต์ใช้ได้กี่ปี เรื่องที่คนใช้รถต้องรู้ไม่ควรปล่อยเบลอหรือรอให้แบตเตอรี่หมดเมื่อไรค่อยเปลี่ยนอาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก เพราะนอกจากจะยุ่งยากเสียเวลาแล้วอาจเสี่ยงต่อความเสียหายของระบบไฟฟ้าในรถรุ่นใหม่ ๆ ค่อนข้างมากอีกด้วย
แบตเตอรี่รถยนต์เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้จ่ายพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้ระบบต่าง ๆ ของรถยนต์ทำงาน แบตเตอรี่รถยนต์จึงมีความจำเป็นอย่างมาก แต่บางครั้งผู้ใช้รถยนต์อาจละเลยหรือมองข้ามส่วนของแบตเตอรี่เพียงเพราะว่าสามารถถอดเปลี่ยนเป็นของใหม่ได้ง่าย ราคาไม่สูงมาก ใช้จนเสื่อมสภาพสตาร์ตรถไม่ติดแล้วค่อยเปลี่ยนก็ได้ จนลืมสนใจว่าแท้จริงแล้วอายุแบตเตอรี่รถยนต์ใช้ได้กี่ปี มีอายุยาวนานเพียงใดและควรเปลี่ยนเมื่อถึงเวลา
แล้วอายุแบตเตอรี่รถยนต์ใช้นานสุดกี่ปี ?
ปัจจุบันแบตเตอรี่รถยนต์มีหลายแบบ ทั้งแบบน้ำ แบบกึ่งแห้งและแบบแห้ง ซึ่งมีอายุการใช้งานรวมถึงการดูแลรักษาต่างกัน
หากเป็นแบตเตอรี่น้ำที่ราคาไม่สูง ต้องคอยหมั่นตรวจสอบระดับของน้ำกลั่นภายในแบตเตอรี่เพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำกลั่นต่ำกว่ากำหนด เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ซึ่งหากได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีแบตเตอรี่น้ำจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 2 ปี สูงสุดไม่เกิน 3 ปี ก็ควรเปลี่ยนเป็นแบตเตอรี่ลูกใหม่
ส่วนแบตเตอรี่กึ่งแห้งหรือ Maintenance Free ต้องการการดูแลน้อยมาก ๆ แม้จะมีฝาเปิด-ปิดให้เติมน้ำกลั่นอยู่ อายุการใช้งานเฉลี่ยเหมือนแบบน้ำคือราว 2 ปี สูงสุดไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น รุ่นรถ การใช้งาน การดูแลรักษา
แต่ไม่ว่าจะดูแลรักษาแบตเตอรี่ดีอย่างไร เมื่อมีอายุการใช้งานมากขึ้น การกักเก็บพลังงานไฟฟ้าหรือประจุไฟฟ้าย่อมลดลงเป็นเรื่องปกติ จึงควรเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ลูกใหม่ตามระยะเวลา
สำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ชนิดแห้งที่มีราคาแพงกว่าสองชนิดแรกพอสมควรนั้นจะมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นและไม่ต้องคอยตรวจเช็กระดับน้ำกลั่นเลย เนื่องจากถูกซีลปิดสนิท มีเพียงรูระบายอากาศเล็ก ๆ กับตาแมวไว้ดูระดับไฟฟ้าของแบตเตอรี่ ซึ่งอยู่ได้ราว ๆ 5 ปี โดยประมาณหรืออาจมากกว่านั้น
อย่างไรก็ตามอายุแบตเตอรี่รถยนต์ใช้ได้กี่ปีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวแบตเตอรี่เพียงปัจจัยเดียว แต่ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย โดยเฉพาะการดูแลรักษาและการใช้งาน หากปล่อยให้รถไฟหมดบ่อยครั้ง ไม่เติมน้ำกลั่น หรือรถไม่ค่อยได้ใช้งานเพื่อจะได้ชาร์จไฟจนเต็ม โอกาสที่แบตเตอรี่จะเสื่อมเร็วกว่ากำหนดย่อมเป็นไปได้เสมอ
ผู้ใช้รถควรตรวจสอบเป็นระยะหรือหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบไฟ เช่น ระบบแสงสว่างลดลง สตาร์ตยากขึ้น ควบคู่กันไป หากพบความผิดปกติควรตรวจสอบแบตเตอรี่ เพื่อป้องกันปัญหาตามมา ทั้งยุ่งยาก หรือในบางครั้งเสี่ยงกระทบถึงระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีอุปกรณ์ควบคุมด้วยไฟฟ้าเป็นจำนวนมากอาจสามารถเกิดความเสียหายได้อย่างคาดไม่ถึง
ที่มา: https://khaorot.com/car-care-and-mai...10518141427905