Name:  Screenshot_1.jpg
Views: 34
Size:  49.2 KB

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมสูง และเป็นแหล่งที่ดำเนินงานตามแนวพระราชดำรัสในการใช้พลังงานน้ำธรรมชาติมาประยุกต์การดำเนินงานอย่างสอดคล้องเป็นประโยชน์

ความพิเศษของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ไม่เพียงอยู่ที่ธรรมชาติบริสุทธิ์แล้ว ที่นี่ยังได้รับยกย่องให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังเป็นสถานที่ดำเนินงานตามแนวพระราชดำรัสในการใช้พลังงานน้ำธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่จะได้รับความนิยมมากในช่วงฤดูหนาวที่มีบรรยากาศสวยที่สุด นักท่องเที่ยวจึงมักจับจองบ้านพักกันจนเต็ม สภาพทั่วไป อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนมีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอเมืองลำปาง มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 592 ตารางกิโลเมตร โดยได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างลำปางและเชียงใหม่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีน้ำตกและบ่อน้ำร้อนอยู่ในบริเวณเดียวกันซึ่งถือเป็นความมหัศจรรย์ยากจะหาที่ใดเทียบ ช่วงเวลาเหมาะสม ฤดูที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและมีอากาศเย็นสบายคือเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ไฮไลท์แห่งอุทยานฯ บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่มีสภาพการเกิดทางธรณีวิทยามีกลิ่นกำมะถันอ่อน ๆ จำนวน 9 บ่อ ตั้งอยู่รวมกันในบริเวณพื้นที่ที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 ไร่ ภายในพื้นที่มีโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ยามเช้าจะมองเห็นภาพไอน้ำลอยกรุ่นขึ้นมาจากบ่อปกคลุมโดยรอบดูสวยงามราวภาพวาด โดยน้ำพุร้อนนั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ย 73 องศาเซลเซียสนักท่องเที่ยวนิยมนำไข่ไก่และไข่นกกระทามาแช่ ซึ่งหากแช่ไข่ไก่นานประมาณ 17 นาที ไข่แดงจะแข็งมีรสชาติมันอร่อย ส่วนไข่ขาวจะเหลวคล้ายไข่เต่า น้ำตกแจ้ซ้อน เป็นน้ำตกที่กำเนิดจากลำน้ำแม่มอญมีน้ำไหลตลอดทั้งปีและมีแอ่งน้ำรองรับอยู่ตลอดสายไหลตกลงมาเป็นชั้น ๆ มี 6 ชั้น อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 3 กิโลเมตร มีทางเดินไปสะดวกและสามารถเดินทางจากบ่อน้ำพุร้อนไปถึงน้ำตกได้ น้ำตกแม่มอญ เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลแรงจากชะง่อนผาสูงลงสู่หุบเหวเบื้องล่าง น้ำจะตกลงมาเป็นชั้น ๆ สวยงาม แต่ที่นี่ไม่เหมาะสำหรับเล่นน้ำ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 5 กิโลเมตร น้ำตกแม่ขุน อยู่ใกล้กับน้ำตกแม่มอญมีลักษณะเป็นน้ำตกสายยาวสูงประมาณ 100 เมตรไหลลงมาบรรจบกับน้ำตกแม่มอญ โดยอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 5 กิโลเมตรนักท่องเที่ยวควรติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำทาง ถ้ำผางาม ห่างจากที่ว่าการอำเภอวังเหนือ 8 กิโลเมตร อยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ฯ ที่แจ้ซ้อน 3 (ผางาม) หน่วยนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 60 กิโลเมตร มีถ้ำที่สามารถเข้าไปศึกษาและท่องเที่ยวได้ เช่น ถ้ำฟ้างาม ถ้ำน้ำ ถ้ำหม้อ เป็นต้น ชมดอกเสี้ยวบาน ดอกไม้สีขาวที่แรระบายผืนป่าให้ดูสวยงามในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี นักท่องเที่ยวสามารถขับรถชมดอกเสี้ยวบานได้ตามเส้นทางแจ้ซ้อน-บ้านป่าเหมี้ยงเป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร แอ่งน้ำอุ่น อยู่ติดกับบ่อน้ำพุร้อนเป็นแอ่งน้ำที่เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของน้ำพุร้อนและน้ำเย็นที่มาจากน้ำตกแจ้ซ้อน ทำให้เกิดเป็นน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิเหมาะแก่การแช่อาบ เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกแจ้ซ้อน มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1.30 ชั่วโมง ผ่านจุดสื่อความหมาย 24 จุด ผ่านสภาพป่าและพรรณไม้ที่น่าสนใจหลายชนิด รวมถึงอาจพบสัตว์หายาก เช่น นกเขนเทาหางแดง และปลาปุงแห่งลำห้วยแม่มอญ เส้นทางนี้เหมาะสำหรับเยาวชนผู้สนใจศึกษาพรรณไม้ต่าง ๆ เช่น ต้นก๋งกวาวเครือ หรือยางปาย ศึกษาระบบนิเวศน์ เช่น วงจรชีวิตหนอนรถด่วน และสภาพภูมิศาสตร์โดยรอบลานน้ำพุร้อน เช่น อะไรทำให้เกิดบ่อน้ำพุร้อน ทำไมน้ำพุร้อนทำให้ไข่แดงสุกแต่ไข่ขาวเหลว หรือจักจั่นน้ำแร่เป็นอย่างไร (จั๊กจั่นน้ำแร่มีชุกในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม) รวมถึงแอ่งอาบน้ำอุ่นที่เกิดจากน้ำร้อนในบ่อน้ำพุร้อนมาบรรจบกับน้ำเย็นที่มาจากน้ำตกแจ้ซ้อน ซึ่งอุทยานฯ ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเองจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำก็อยู่ในเส้นทางนี้ด้วย ที่นี่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 60 กิโลวัตต์ ผู้สนใจสามารถขับรถขึ้นไปดูได้ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร แต่ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเพราะสภาพทางค่อนข้างชัน เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกแม่เปียก ระยะทางประมาณ 3.7 กิโลเมตร เป็นเส้นทางวงรอบเลียบริมห้วยแม่เปียกผ่านจุดสื่อความหมาย 19 จุด ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2.30 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศการนำทรัพยากรป่าไม้มาใช้ประโยชน์ เช่น น้ำมันยางสารพัดประโยชน์ที่นำมาใช้กับเครื่องยนต์จนถึงทำน้ำมันใส่แผล ไผ่ข้าวหลามที่มีเปลือกบางเผาง่าย เมี่ยง(ชา) ที่นำใบอ่อนมานึ่งแล้วหมักทำเป็นเมี่ยงนิยมรับประทานเป็นของว่างใช้ต้อนรับแขกทางภาคเหนือของไทย สำหรับยอดอ่อนก็นำมาอบแห้งแล้วชงกับน้ำร้อนดื่มเป็นชา ซึ่งเมี่ยง(ชา) มีสารคาเฟอีนออกฤทธิ์เช่นเดียวกับกาแฟ แหย่งใบใช้ห่ออาหารแทนใบตอง หรือนำลำต้นไปตากให้แห้งแล้วสานเป็นเสื่อ หรือแม้แต่การสร้างฝายน้ำล้นที่นำไปผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อใช้ภายในอุทยานฯ ระหว่างเส้นทางถ้าโชคดีอาจพบหมูป่าและเต่าปูลูที่มีลักษณะไม่เหมือนเต่าทั่วไปและกำลังจะสูญพันธุ์ โดยเต่าปูลูมีหางยาวหัวและขาไม่สามารถหดเข้าไปในกระดองเหมือนเต่าทั่วไปได้ มีความสามารถในการปีนป่ายและกินสัตว์จำพวกปูหรือปลาเป็นอาหาร นอกจากนี้ในเส้นทางยังมีน้ำตกวังไฮและน้ำตกแม่เปียกซึ่งน้ำตกแม่เปียกนั้นมี 3 ชั้น และชั้นที่ 3 มีความสวยงามที่สุด โดยมีความสูงประมาณ 100 เมตร ด้านล่างบริเวณแอ่งรองรับน้ำจากน้ำตกมีกล้วยป่าขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไปทำให้มีความสวยงาม สิ่งอำนวยความสะดวก ในอุทยานฯ บริการห้องอาบน้ำแร่ ซึ่งมีทั้งห้องอาบแร่สำหรับ 3-4 คน ห้องรวมแบบตักอาบและบ่อสำหรับแช่อาบกลางแจ้ง โดยน้ำแร่ที่นำมาใช้นั้นต่อท่อโดยตรงมาจากบ่อน้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิน้ำแร่ประมาณ 39-42 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถใช้แช่อาบได้ ทั้งนี้ประโยชน์ของการอาบน้ำแร่คือช่วยบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ช่วยให้ระบบไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น กลากเกลื้อน ผื่นคัน และยังช่วยบรรเทาอาการของโรคกระดูก แต่น้ำแร่จากที่นี่ไม่สามารถใช้ดื่มได้เพราะมีแร่ธาตุบางชนิดสูงกว่ามาตรฐาน การใช้บริการห้องอาบน้ำแร่ที่นี่ ต้องเสียค่าบริการดังนี้ ห้องส่วนตัว 50 บาท/คน สระน้ำรวม 20 บาท/คน บ่อกลางแจ้ง 10 บาท/คน ที่พัก บ้านพักในอุทยานฯ มี 11 หลัง พักได้หลังละ 6-20 คน ห้องน้ำสะอาดและมีเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม มีสถานที่กางเต็นท์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ บริการ ราคา 500-4,000 บาท เช่น ไฟฟ้า เตาประกอบอาหาร ค่ากางเต็นท์คนละ 30 บาท และอุทยานฯ ยังมีร้านอาหารสวัสดิการบริการด้วย สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 5438 0000, 08 9851 3355 หรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760-2 www.dnp.go.th อัตราค่าเข้า คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

ที่มา: https://thai.tourismthailand.org/Att...B8%AD%E0%B8%99