เมืองฟ้าแดดสงยางหรือที่เรียกเพี้ยนเป็น ฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกเมืองเสมาเนื่องจากแผนผังของเมืองมีรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณที่มีคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น ความยาวของคันดินโดยรอบประมาณ 5 กิโลเมตร คูน้ำจะอยู่ตรงกลางคันดินทั้งสอง จากหลักฐานโบราณคดีที่ค้นพบทำให้ทราบว่ามีการอยู่อาศัยภายในเมืองมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นในสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 ดังหลักฐานทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏโดยทั่วไปทั้งภายในและนอกเมือง เช่น ใบเสมาหินทราย จำหลักภาพชาดกและพุทธประวัติจำนวนมาก บางส่วนเก็บไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมารามซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณเมืองฟ้าแดดสงยาง บางแห่งอยู่ในตำแหน่งเดิมที่พบ และบางส่วนก็นำไปเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น นอกจากนั้นยังมีศาสนสถานกระจายอยู่ทั่วไปภายในเมืองและนอกเมือง เช่น พระธาตุยาคู กลุ่มเจดีย์บริเวณศาสนสถานที่โนนวัดสูง โนนฟ้าหยาด และโนนฟ้าแดด กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 พระธาตุยาคู หรือพระธาตุใหญ่ เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ ปรากฏการก่อสร้าง 3 สมัยด้วยกัน คือ ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ มีปูนปั้นประดับสร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิมเป็นรูปแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ รอบ ๆ องค์พระธาตุพบใบเสมาแกะสลักภาพนูนต่ำเรื่องพุทธประวัติ ชาวบ้านเชื่อกันว่าในองค์พระธาตุบรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ สังเกตได้จากเมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงครามได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดสงยาง แต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู จึงเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ชาวบ้านจัดให้มีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุยาคูเป็นประจำทุกปีในเดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการขอฝนและความร่มเย็นให้กับหมู่บ้าน
ที่มา: https://thai.tourismthailand.org/Att...B8%B2%E0%B8%87