ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติมักได้รับการติดตั้งเข้ามาภายในรถยนต์รุ่นใหม่เกือบจะแทบทุกรุ่นแล้วระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติมีวิธีการทำงานอย่างไร ข่าวรถมีคำตอบให้ครับ

ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ หรือ Rain Sensor นับเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกขั้นมาตรฐานที่ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ต่างให้ความสำคัญและถูกนำมาติดตั้งเอาไว้ในรถยนต์รุ่นต่างๆอยู่หลากหลายรุ่น ทั้งนี้ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Automatic Windscrean Wiper ทำงานผ่านการตรวจจับปริมาณน้ำฝนด้วย Rain Sensor ที่จะคอยวัดปริมาณน้ำฝนในกรณีที่มีฝนตกระบบเซ็นเซอร์จะทำการตรวจจับและเปิดการทำงานของระบบปัดน้ำฝนภายในรถอย่างอัตโนมัติ ส่วนในกรณีที่ไม่มีฝนตกระบบดังกล่าวก็จะไม่มีการทำงานแต่อย่างใด

Name:  9-e60a.jpg
Views: 121
Size:  21.8 KB

ทั้งนี้ภายในของเซ็นเซอร์ปัดน้ำฝนมีการติดตั้งชุด Emitting Diode ทำหน้าที่ในการยิงลำแสงกลับเข้าไปยังชุดรับแสง Receiving Diode เมื่อมีน้ำฝนมาตกกระทบเข้ากับบริเวณพื้นที่รับแสงของกระจกรถด้านหน้าจะส่งผลไปยังกล่องควบคุมระบบปัดน้ำฝนเพื่อให้เริ่มต้นการทำงาน โดยปริมาณของน้ำฝนที่ตกลงมาเองก็มีผลต่อการทำงานของเซ็นเซอร์ปัดน้ำฝนเช่นเดียวกัน เนื่องจากน้ำทำให้การหักเหของแสงมีความเปลี่ยนแปลงไปหากฝนตกน้อยการหักเหของแสงก็จะน้อยกล่องควบคุมจะสั่งการให้ก้านปัดน้ำฝนปัดช้า หรือ ปัดหยุด แต่ในทางตรงกันข้ามหากตรวจจับได้ว่ามีฝนตกหนักเนื่องมาจากปริมาณในการหักเหของแสงมากและไม่สามารถที่จะรับแสงสะท้อนกลับได้กล่องควบคุมจะทำการสั่งให้ระบบปัดน้ำฝนเพิ่มความเร็วในการปัดน้ำฝนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ตัวเซ็นเซอร์ปัดน้ำฝนนั้นก็มีการแบ่งแยกขั้นตอนในการทำงานอยู่อย่างชัดเจน คือ การหยุด การปัด-หยุด หรือพูดง่ายๆคือหน่วงเวลาประมาณ 5 วินาทีจึงกลับมาทำการปัดอีกครั้ง ทั้งนี้ผู้ขับขี่สามารถที่จะสังเกตได้จากสัญลักษณ์ Int หรือ Intermittent นั่นเอง อย่างไรก็ตามในรถบางรุ่นผู้ขับขี่สามารถที่จะปรับตั้งค่าระยะเวลาในการหน่วงปรับ-หยุดได้ตามความต้องการผ่านวิธีการตั้งเวลาให้ที่ปัดน้ำฝนมีการหน่วงในระยะ 5-10 วินาที หรือ ในระยะเวลาที่มีความยาวนานมากกว่านั้นได้ด้วยเช่นกัน กอปรกับที่ภายในระบบปัดน้ำฝนจะมีการติดตั้งมอเตอร์ปัดน้ำฝนเพื่อทำหน้าที่ในการหมุนก้านปัดน้ำฝนและรีเลย์ควบคุมปริมาณความถี่ในการปัดน้ำฝนในจังหวะเร็วหรือช้านั่นเอง

สำหรับวิธีการใช้งานระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติอย่างถูกต้องนั้นผู้ขับขี่เพียงหมุนก้านปัดน้ำฝนมาอยู่ในตำแหน่งที่ 1 ซึ่งในกรณีที่รถของผู้ขับขี่มีการใช้งานระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติจะไม่มีจังหวะการปัดหยุด แต่ผู้ขับขี่ก็สามารถที่จะหมุนก้านปัดน้ำฝนเพื่อปรับระดับความเร็วของใบปัดน้ำฝนขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้แล้วในกรณีที่ผู้ขับขี่มีการนำรถเข้าไปล้างยังศูนย์บริการล้างรถ หรือ ล้างรถด้วยตนเองที่บ้านก็ไม่ควรที่จะเปิดการใช้งานระบบปัดน้ำฝนแบบอัตโนมัติเนื่องจากอาจทำให้ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติรวมถึงตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับปริมาณน้ำฝนเสียหายได้ และ ควรเปลี่ยนยางปัดน้ำฝนเมื่อครบกำหนดเพื่อช่วยให้สามารถรีดน้ำฝนออกจากกระจกรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นครับ



ที่มา: https://khaorot.com/car-care-and-mai...90527075609961