ภัยสังคมก้มหน้า

ยุคปัจจุบันสังคมออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ปริมาณการใช้งานสมาร์ทโฟน แทบเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์ เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จากในอดีตที่มีการใช้เพียงเพื่อโทรศัพท์ หรือเช็กอีเมล ก็มีการเพิ่มระยะเวลาในการใช้งานนานมากขึ้น บางคนใช้งานเกือบตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าถึงเข้านอนตอนค่ำ มิหนำซ้ำยังวางไว้ข้างตัวขณะเวลานอนหลับอีกด้วย จนเกือบเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในร่างกายที่ขาดไม่ได้ แต่การใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบประสาทและกระดูกต้นคอ เมื่อใช้ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมาได้ อาการผิดปกติที่พบได้บ่อย ในกลุ่มคน “สังคมก้มหน้า” คืออาการปวดศีรษะ

Name:  10-09-15-13-23-44-s.jpg
Views: 601
Size:  19.0 KB

อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย เกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากความไวที่มากกว่าปกติของระบบประสาทเอง ซึ่งทำให้เกิดโรคปวดศีรษะไมเกรน หรือจากความผิดปกติอื่นๆ เช่น เนื้องอกในสมอง, เส้นเลือดในสมองแตก, ความดันในสมองผิดปกติ, ยาหรือสารเคมีบางชนิด เป็นต้น

การใช้งานสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ที่มากเกินไปหรือใช้งานอย่างไม่ถูกท่าทางนั้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน เพราะการก้มหน้าใช้งานเป็นเวลานาน จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอเกิดอาการเมื่อยล้า หรือเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อขึ้นมาเป็นก้อน อาการปวดที่กล้ามเนื้อคอนี้ อาจส่งความปวดไปยังส่วนอื่นที่ใกล้เคียง เช่น ท้ายทอย, บริเวณขมับ, รอบกระบอกตา, หน้าผาก หรือบางคนอาจมีอาการปวดร้าวมาได้ถึงบริเวณหน้าและขากรรไกรได้ โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ หรือใช้สมาร์ทโฟนอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งจะรู้จักกันดีในชื่อ “กลุ่มอาการปวดจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว” หรือ Myofascial pain syndrome (MFS)


การก้มหน้าเป็นระยะเวลานานนั้น ยังส่งผลกระทบต่อกระดูกต้นคอ ทำให้กระดูกต้นคอเกิดการรับน้ำหนักมากกว่าปกติถึง 6 เท่า เกิดภาวะกระดูกคอเสื่อมก่อนวัย หรืออาจถึงขั้นหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทได้ ซึ่งถ้าไปกดทับเส้นประสาทสมองระดับที่ 1-4 อาจทำเกิดอาการปวดศีรษะที่บริเวณท้ายทอย, ขมับ, กระบอกตา, หน้าผาก รวมถึงกลางกระหม่อม มักจะปวดศีรษะด้านเดียว บางรายอาจมีอาการปวดแขนหรือไหล่ การยื่นคอไปด้านหน้าหรือการกดบริเวณท้ายทอยอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ ทางการแพทย์จะเรียกว่าโรคนี้ว่า “โรคปวดศีรษะจากความผิดปกติของคอ” หรือ Cervicogenic headache

นอกจากนี้ ขณะที่เราใช้งานสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์นั้น แสงที่ออกมาจากหน้าจอหรือแสงสะท้อนจากหน้าจอ ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลันขึ้น ในกลุ่มคนที่เป็นโรคไมเกรนอยู่แล้ว รวมทั้งกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็งปวดบริเวณคอและศีรษะ ยังสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรน เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบรุนแรงเฉียบพลันได้อีกด้วย

จะเห็นว่า “สังคมก้มหน้า” นั้น ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้หลายชนิด บางชนิดอาจเป็นรุนแรงจนถึงขึ้นต้องรักษาโดยการผ่าตัด ดังนั้นการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์อย่างเหมาะสม เป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะ ในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะที่เกิดจากการใช้งาน อาจต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป


ขอบพระคุณข้อมูลดีๆจาก: http://www.bangkokhealth.com/health/...%E0%B8%B2-2365