เมื่อพูดถึงความอ้วน ผู้หญิงทุกคนต้องขยาด แต่น้อยคนนักที่หลีกเลี่ยงได้สำเร็จ เพราะความอ้วนเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัวของพวกเราที่ตามใจปากก่อนจะนึกถึงปัญหาสุขภาพ จึงไม่แปลกที่ภาวะน้ำหนักเกินจะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 ประสบปัญหากับภาวะอึดอัดนี้ ซึ่งโรคอ้วนนับจริงๆ ไม่ใช่แค่น้ำหนักเกินมาเยอะ แต่เกิดจากไขมันส่วนเกินที่มีเกินความจำเป็นจนสะสมไว้เป็นปัญหาสุขภาพ ถึงแม้จะไม่ร้ายแรงเท่ากับก้อนมะเร็ง แต่ก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของภาวะเส้นเลือดอุดตัน สาเหตุของโรคหัวใจวายที่หลายคนอาจมองข้าม เพราะมักหันไปให้ความสำคัญกับความงามและรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าปัจจัยด้านสุขภาพภายใน ซึ่งแท้จริงแล้วผลลัพธ์ของการมีสุขภาพดี ไร้ไขมันส่วนเกินสามารถต้านโรคภัยได้อยู่หมัด และชะลอริ้วรอยไม่ให้ล่วงเลยไปตามวัยได้อย่างดี
นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ผู้อำนวยการ Bangkok Royal Life Anti-Aging Center (ศูนย์แบงค็อกรอยัลไลฟ์ แอนไทน์-เอจจิ้ง) โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า แนวทางการลดน้ำหนักที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่ใช่คำตอบของการมีสุขภาพดี เพราะส่วนใหญ่วัดกันที่ปริมาณน้ำหนักที่ลดลงว่ามากน้อยเท่าใด แต่ใครจะคิดว่าตัวเลขบนตราชั่งที่ลดลงมากเท่าใด ต้องแลกมาด้วยสภาพร่างกายทรุดโทรม ต้องฝืนพฤติกรรมความเป็นอยู่ จนคล้ายกับคนป่วยเรื้อรังที่ต้องอดอาหาร ควบคุมน้ำหนัก สมองสั่งงานช้าลง ดูแก่ก่อนวัย หากควบคุมไม่ดี ไขมันส่วนเกินพร้อมกลับมาพอกพูนมากกว่าเดิมได้อย่างไร้การควบคุมเหมือนเป็นโยโย่เอฟเฟ็กซ์ และยังไม่สามารถลดไขมันส่วนเกินได้ 100%
ปัญหาเรื่องน้ำหนักที่แก้ไม่ตก ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แพทย์ในสหรัฐอเมริการิเริ่มก่อตั้งสมาคม American Society of Obesity Medicine หรือ ASOM ขึ้น เพื่อเดินหน้าค้นหาคำตอบของวิทยาการลดไขมันส่วนเกินอย่างถูกต้อง เพื่อยับยั้งกลไกของไขมันที่กำลังสะสมซึ่งบั่นทอนให้อายุลดน้อยถอยลง โดยมีจุดประสงค์เพื่อการดูแลและป้องกันก่อนเกิดโรค ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกผลักดันมากขึ้น
การจัดการน้ำหนัก เป็นปัญหาใหญ่ของชาวเอเชีย ยุโรป หรือแม้แต่อเมริกาต้องเผชิญ เนื่องจาก 99% ของวิธีการลดน้ำหนัก เช่น การอดอาหาร ออกกำลังกายหักโหม ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร เพราะถึงแม้น้ำหนักจะลดลง แต่นั่นเป็นน้ำหนักดีที่ร่างกายต้องการหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคอ้วนคนแรกและเพียงหนึ่งเดียวในไทยกล่าวและอธิบายว่า น้ำหนักที่ลดไป 1 กิโลกรัม อาจไม่ใช่แค่ไขมัน แต่เป็นมวลกระดูก กล้ามเนื้อ หรือวิตามินที่ร่างกายต้องการหลุดออกมาด้วย ยาส่วนใหญ่ออกฤทธิ์เพื่อไม่ให้อยากอาหาร การลดน้ำหนักจึงไม่ใช่เรื่องยาก ที่สิ่งที่ยากคือจะทำอย่างไรให้น้ำหนักอยู่คงที่ไปตลอด ดังนั้นแนวทางการรักษาตามแบบอายุรศาสตร์โรคอ้วน (obesity medicine) จึงไม่ได้ให้ความสนใจกับน้ำหนักบนตราชั่ง ที่รวมถึงกล้ามเนื้อ กระดูก เลือด และไขมัน แต่เป็นการเติมเต็มระบบการเผาผลาญของร่างกาย จากปริมาณไขมันที่มีอยู่จริง ให้มีความเหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคน
วิทยาการทางการแพทย์ได้พัฒนาเครื่องมือที่สามารถตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของร่างกายได้จากผลเลือด ซึ่งจะเป็นแนวทางนำไปสู่การวินิจฉัย แนวทางดูแลสุขภาพในอนาคต ก่อนที่จะเกิดโรค นพ.ตนุพลกล่าว และขยายความว่า การลดน้ำหนักตามแนวทางของอายุรศาสตร์โรคอ้วน มุ่งเน้นการลดสัดส่วนลงมากกว่าตัวเลขบนตราชั่ง ด้วยเทคนิค Obesity Medicine หรือการเผาผลาญของร่างกาย โดยเริ่มต้นจากตรวจปริมาณไขมันในร่างกายด้วยการสแกน Body fat ผ่านเครื่อง Dexa scan whole body เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นเปอร์เซ็นต์ของไขมันและกล้ามเนื้อในภาพรวม ซึ่งให้ผลมากกว่าการคำนวณดัชนีมวลกาย หรือ BMI
Body fat ที่เพิ่มขึ้นจากค่ามาตรฐานเพียง 1% หมายความว่าจะเพิ่มอัตราการตายจากโรคเบาหวาน ไขมัน ความดัน หัวใจ เส้นเลือด กระดูกพรุนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 10% นพ.ตนุพลกล่าว และย้ำว่า การจัดการกับไขมันส่วนเกินอย่างถูกต้อง และเพิ่มกล้ามเนื้อให้แข็งแรง คือหลักการชะลอวัยที่ดี
หลักการในการจัดการน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิผลอีกวิธีหนึ่งคือการเจาะเลือด และใช้เครื่องมือทางห้องปฏิบัติการเชิงลึกระดับโมเลกุล ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพระบบการเผาผลาญของร่างกาย การทำงานของต่อมไร้ท่อ และฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต ตลอดจนฮอร์โมนที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค เพื่อหาแนวทางในการป้องกัน ทันทีที่รู้ว่าร่างกายขาดอะไร สิ่งที่จะเติมเต็มเข้าไป คือ รูปแบบเฉพาะของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็น อะมิโนแอซิท หรือโปรตีนที่ช่วยเผาผลาญไขมัน วิตามินหรือพืชบางชนิด ที่ร่างกายต้องการและไม่มีผลอันตรายต่อตับและไต โดยร่างกายสามารถเติมเต็มเข้าไปเพื่อทดแทนหรือซ่อมแซมส่วนที่ขาดหายไป จากการทานอาหารที่ไม่สมดุล หรือการเผาผลาญที่ทำได้ไม่เต็มที่ จากปัจจัยต่างๆ เช่น ความเครียด พันธุกรรม ตลอดจนไลฟ์สไตล์การกินอยู่ของคนที่เปลี่ยนไป
นอกจากการรับประทานวิตามินแร่ธาตุในสูตรเฉพาะของแต่ละคนแล้ว การเลือกรับประทานอาหารก็เป็นสิ่งจำเป็น เรายังสามารถทานอาหารได้ปกติในทุกมื้อทั้งผัก เนื้อสัตว์ โปรตีนจากนม ไม่แนะนำให้อดอาหารหรือกินเฉพาะมื้อในแต่ละวัน แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลในมื้อเย็น ข้อแนะนำเพื่อกำหนดการทานอาหารแต่ละมื้อไม่ให้มากเกินพอดีคือ การนับคำกินข้าวและกินน้อยลง 20 % เพื่อไม่ให้ร่างกายอิ่มเกินพอดี เป็นการฝึกระเบียบวินัยในการทานอาหาร ไม่ให้ตามใจปาก ตามใจท้องไม่ให้อิ่มเกินไป และช่วยเป็นการฝึกจิต กำหนดร่างกายให้ทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมเสริมการทานผลไม้ จำพวก แอปเปิ้ล ฝรั่ง หรือกากใยอาหารให้มากขึ้น และขาดไม่ได้ คือ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงาน และให้เลือดลมสูบฉีดกระตุ้นระบบการทำงานของร่างกายอย่างต่อเนื่อง
เพราะเป้าหมายของการมีสุขภาพแข็งแรง อายุที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ พร้อมต่อสู้กับโรคภัยได้เต็มร้อย ต้องเริ่มต้นจากการดูแลตัวเองในวันนี้ก่อนที่จะสายเกินแก้ สุขภาพที่ดีต้องดีจากภายใน สะท้อนสู่ภายนอก..
ขอบพระคุณข้อมูลดีๆจาก: http://www.bangkokhealth.com/health/...%E0%B8%94-2395