ในสถานการณ์น้ำท่วมพี่น้องประชาชนจะต้องระมัดระวังตนเองให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ อุบัติภัยที่พบได้บ่อยในช่วงนี้ การดูแลร่างกายและจิตใจ ให้ปลอดภัยและแข็งแรง เป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากร่างกายที่แข็งแรง นำไปสู่การมี “กำลังใจ” ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ “น้ำ และ อาหาร” เป็นพลังที่ทำให้ร่างกายเราขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับทุกปัญหาชีวิต การดูแลน้ำ และ อาหาร ให้สะอาดและปลอดภัย ในสถานการณ์น้ำท่วมเราอาจไม่มีทางเลือกมากนัก แต่เรามีเคล็ดไม่ลับ ในการทำน้ำและอาหารให้สะอาดและปลอดภัยโดยวิธีง่ายๆ ดังนี้

Name:  L_5h7ikb77b7gf8ced9a76h.JPG
Views: 153
Size:  78.0 KB

วิธีทำน้ำให้สะอาดและปลอดภัยเพื่อดื่ม-ใช้ในภาวะน้ำท่วม

น้ำดื่ม: ต้มให้เดือด เพื่อทำลายเชื้อโรคในน้ำ ในกรณีใช้น้ำบรรจุขวด จะต้องดูว่ามีเครื่องหมาย อย. หรือไม่ ก่อนดื่มควรสังเกตความสะอาดน้ำภายในขวดว่ามีสิ่งปลอมปนหรือไม่

น้ำใช้: หากไม่แน่ใจว่าน้ำที่เราใช้มีความสะอาดเพียงพอหรือไม่ ให้ใช้ผงปูนคลอรีน ทำลายเชื้อโรคในน้ำ ความเข้มข้นของคลอรีนต้องผสมในอัตราส่วนที่ถูกต้องและทิ้งระยะเวลาไว้ให้เพียงพอที่จะให้คลอรีนทำลายเชื้อโรค คลอรีนสามารถทำลายเชื้อโรคได้มากกว่า 99% รวมทั้ง อี.โคไล (E.coli) และเชื้อไวรัส นอกจากนี้ผงปูนคลอรีนสามารถเพิ่มปริมาณอ๊อกซิเจนในน้ำได้ การใช้คลอรีนอย่างระมัดระวังจะไม่เกิดอันตรายใดๆ

คลอรีนคืออะไร และทำให้น้ำสะอาดได้อย่างไร

คลอรีนมีหลายชนิด มีทั้งชนิด คลอรีนผง คลอรีนน้ำ และคลอรีนก๊าช การเลือกใช้ต้องพิจารณาความเหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์ และการเก็บรักษา สำหรับการเตรียมคลอรีนเพื่อการฆ่าเชื้อโรคในครัวเรือนมักใช้คลอรีนผง ความเข้มข้น 60 เปอร์เซ็นต์ การใช้งานต้องนำมาละลายน้ำ แล้วนำส่วนที่เป็นน้ำใสผสมน้ำตามอัตราส่วนและวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น ใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำดื่ม-น้ำใช้ ใช้ล้างผักสด ผลไม้ อาหารทะเล ภาชนะอุปกรณ์ และอาคารสถานที่ต่างๆ

วิธีการเตรียมคลอรีน

เตรียมน้ำใส่ภาชนะที่ต้องการใช้ประโยชน์ ตักน้ำใส่แก้วมา 1 แก้ว แล้วนำผงปูนคลอรีนชนิดความเข้มข้น 60% ผสมลงไปตามสัดส่วน คนให้เข้ากันตั้งทิ้งไว้ในผงปูนตกตะกอน นำน้ำคลอรีนส่วนที่เป็นน้ำใส ผสมน้ำในภาชนะที่เตรียมน้ำไว้ตามอัตราส่วน กวนให้เข้ากันด้วยภาชนะที่สะอาด ทิ้งไว้ 30 นาที ก่อนที่จะใช้ประโยชน์ตามต้องการ รายละเอียดดังตารางที่ 1 ขั้นตอนการเตรียม

ผสมผงคลอรีนในน้ำ 1 แก้ว คนให้เข้ากัน และทิ้งไว้ให้ตกตะกอน รินเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใสผสมน้ำสะอาดตามที่กำหนด คนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 30 นาที ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ ตารางที่ 1 แสดงปริมาณ และระยะเวลาในการใช้คลอรีนเพื่อทำน้ำให้สะอาด

ปริมาณผงคลอรีน (ช้อนชา) ปริมาณน้ำที่ผสม ระยะเวลาแช่ ประเภทการใช้งาน

1/8 น้ำ 8 ปี๊บ (โอ่งน้ำมังกร) 30 นาที น้ำดื่ม-น้ำใช้
1 น้ำ 50 ปี๊บ 30 นาที น้ำดื่ม-น้ำใช้
1/2 น้ำ 1 ปี๊บ 30 นาที ผักสด ผลไม้
1 น้ำ 1 ปี๊บ 30 นาที ปลา อาหารทะเล
1 น้ำ 1/2 ปี๊บ 2 นาที ภาชนะ อุปกรณ์ สถานที่
*น้ำ 1 ปี๊บ = 20 ลิตร

การใช้น้ำปูนคลอรีนฆ่าเชื้อโรค

น้ำดื่ม-น้ำใช้ ใช้น้ำปูนคลอรีนส่วนที่เป็นน้ำใสใส่น้ำสะอาดที่ต้องการปรับปรุงคุณภาพ ทิ้งไว้ 30 นาที ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เพื่อไม่ให้คลอรีนระเหยเร็วเกินไป และป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอก ผักสด ผลไม้ ล้างด้วยน้ำสะอาด โดยเฉพาะผักผลไม้ที่รับประทานสดควรขัดผิวของผัก และผลไม้จนกว่าจะสะอาด และฆ่าเชื้อโรค โดยแช่น้ำที่ผสมปูนคลอรีน นาน 30 นาที ปลา ล้างด้วยน้ำสะอาด และฆ่าเชื้อโรคโดยแช่น้ำที่ผสมน้ำปูนคลอรีนนาน 30 นาที เขียง ต้องล้างด้วยน้ำสะอาดและฆ่าเชื้อโรคโดยแช่ในน้ำที่ผสมน้ำปูนคลอรีนนาน 30 นาที อาคารสถานที่ ราดน้ำที่ผสมปูนคลอรีนลงบนพื้นที่ที่ต้องการฆ่าเชื้อโรค ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที จึงล้างออก ส่วนโต๊ะ ชั้นวางของ ทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด แล้วใช้ผ้าชุบน้ำที่ผสมน้ำปูนคลอรีนพอหมาดๆ เช็ดให้ทั่วอีกครั้ง

ข้อควรระวังในการใช้คลอรีน

คลอรีนทำให้เกิดการระคายเคืองระบบหายใจทำให้แสบจมูก ระคายเคืองตาแสบตา ผิวหนังเป็นผื่นแดงอักเสบได้ ดังนั้นในการเตรียมคลอรีน จึงควรป้องกันตัวเองจากอันตรายที่กล่าวมาโดย

สวมถุงมือยางขณะเตรียมสารละลายคลอรีน และในระหว่างการผสมคลอรีน ควรมีผ้าปิดปาก จมูก และควรแต่งกายปกปิดร่างกายให้มิดชิด อย่าให้ถูกผิวหนัง และตา เมือถูกผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที ถอดเสื้อผ้าที่ถูกคลอรีนออก และอาบน้ำชะล้างคลอรีนให้หมดเมื่อเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที และรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป

การเก็บผงปูนคลอรีน

ต้องมีการเก็บรักษาที่ดี เพื่อคงคุณภาพของผงปูนคลอรีนไว้เนื่องจากคลอรีนในผงปูนสามารถระเหยออกสู่บรรยากาศภายนอกได้เรื่อยๆ ดังนั้น การเก็บจึงต้องเก็บในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด และพ้นจากมือเด็ก

มั่นใจได้อย่างไร ว่า“อาหาร” ที่เราทานปลอดภัย

การจัดการและควบคุมอาหารให้สะอาด ปลอดภัย ใช้หลักการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และต้องควบคุมปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้อาหารสกปรก ที่สำคัญ ได้แก่

สถานที่ปรุง ประกอบ และจำหน่ายอาหาร
ภาชนะอุปกรณ์
อาหาร และวัตถุดิบ
คน (ผู้สัมผัสอาหาร)
สัตว์และแมลงนำโรค

คำแนะนำในการป้องกันโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อนำโรค

สวมถุงมือ และใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ผ้ากันเปื้อน รองเท้ายาง เป็นต้น ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณทั่วไปของสถานที่ปรุง ประกอบอาหารที่ถูกน้ำท่วม ล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคภาชนะอุปกรณ์ทุกชนิด ก่อนที่จะนำมาประกอบอาหาร ไม่นำภาชนะอุปกรณ์ เช่น ช้อน/เขียง ภาชนะพลาสติกบางชนิด ที่อาจดูดซับความสกปรกหรือเชื้อโรค ดูดซึมน้ำไว้ในระหว่างน้ำท่วมมาใช้

ไม่นำอาหารสดพวกเนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ไข่ ผักสด อาหารกระป๋อง/อาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท อาหารที่บรรจุในภาชนะแก้ว กระดาษ เครื่องปรุงรสต่างๆ ที่ชำรุดเสียหายจากการถูกน้ำท่วมมาบริโภค อาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิทที่ไม่เสียหายจากน้ำท่วม และยังมีฉลากแสดงรายละเอียดของอาหารอาจนำมาใช้บริโภคได้ แต่จะต้องล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคภาชนะบรรจุภายนอกก่อนนำมาใช้ สารเคมีที่ใช้ในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค คือ คลอรีน ต้องผสมตามสัดส่วน (ระบุไว้ข้างต้น) ที่เหมาะสมตามประเภทและชนิดของอาหาร

อาหารสดพวกเนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ไข่ ผักสด ต้องปรุงสุกด้วยความร้อน อาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท เช่น อาหารกระป๋องที่ไม่เสียหายจากน้ำท่วมต้องดูให้แน่ใจว่าไม่หมดอายุ ให้ดูวัน เดือน ปี ที่ผลิต/หมดอายุ กระป๋องไม่บวม หรือเป็นสนิม และปรุงด้วยความร้อนก่อนบริโภค ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก: http://www.bangkokhealth.com/health/...%E0%B8%A1-1912