ความวิตกกังวล/การพักผ่อน
สุขบัญญัติข้อที่ 5 ได้แก่ การรู้จักบริหารจัดการกับความวิตกกังวล และการพักผ่อนที่เพียงพอ สำหรับสุขบัญญัติข้อนี้ ขอกล่าวถึงการพักผ่อนที่เพียงพอก่อนว่าการพักผ่อนมีความสำคัญอย่างมากต่ออวัยวะทุกส่วนของร่างกายคนเรา สมองต้องการหยุดคิด หยุดตัดสินใจ หยุดฟุ้งซ่าน สายตาต้องการหยุดการมอง กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ต้องการพัก กระเพาะลำไส้ต้องการหยุดการย่อยอาหาร อวัยวะทุกชนิดต้องการการพักผ่อนทั้งสิ้น แม้กระทั่งหัวใจก็ต้องการหยุดพัก แต่หยุดสนิทคงไม่ได้ ในขณะนอนหลับ หัวใจจะเต้นช้าลง ก็ถือว่าเป็นการพักผ่อนของหัวใจ สำหรับตัวเลขจำนวนชั่วโมงในการพักผ่อนนอนหลับใน 1 วัน พอที่จะบอกคร่าวๆ ได้ดังนี้
เด็กเล็กมากๆ อาจนาน 18-20 ชั่วโมงต่อวัน เด็กโตขึ้นมาก็จะนอนน้อยลงเรื่อยๆ จนถึง วัยรุ่นอาจนอน 8-10 ชั่วโมง ต่อวัน ซึ่งเชื่อกันว่า การนอนที่ไม่เพียงพอในเด็กหรือวัยรุ่น จะมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญเติบโต ทำให้ตัวเล็กกว่าปกติได้
ผู้ใหญ่ อาจนอนประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละคนคงต้องดูความเหมาะสมของตนเองเป็นหลักว่า นอนเพียงใดทำให้ร่างกายสดชื่นมีความพร้อมสำหรับทำงานในวันรุ่งขึ้น สมองมีความโปร่งใสคิดอะไรตัดสินใจอะไรได้ดี
สำหรับการบริหารจัดการกับความวิตกกังวลมีหลักอยู่ว่า มนุษย์ทุกคนหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลไม่ได้แน่นอน ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ใดที่สามารถบริหารจัดการเพื่อลดความวิตกกังวล หรือทำให้ไม่เกิดความวิตกกังวลขึ้นเลยในชีวิตประจำวัน ท่านผู้นั้นจะได้เปรียบบุคคลอื่น ท่านจะได้มีเวลาสำหรับนั่งทำงานอื่นๆ ได้อีกมากมาย แทนที่จะกลุ้มอกกลุ้มใจเกี่ยวกับความวิตกกังวลที่ตัวเองมีอยู่