ในปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจในการออกกำลังกายและเล่นกีฬามากขึ้น แต่พบว่าส่วนมากยังขาดความรู้และความเข้าใจในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ดังนั้นเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นจึงส่งผลต่อภาวะสุขภาพและทำให้อาจบาดเจ็บจนไม่สามารถกลับไปเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายได้เหมือนเดิม การรักษาทางกายภาพบำบัดจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยในการรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายที่เกิดการบาดเจ็บให้กลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม

Name:  s21_008.jpg
Views: 127
Size:  31.1 KB

ปัญหาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพหรือการเล่นกีฬาเพื่อการแข่งขันมีสาเหตุหลักจากความไม่พร้อมของกล้ามเนื้อก่อนการใช้งาน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะบาดเจ็บจากการเล่นกีฬามีหลายสาเหตุ ได้แก่
- โครงสร้างที่ผิดปกติของร่างกายของนักกีฬา
- การขาดทักษะการใช้งานที่ถูกต้อง เช่น การใช้งานของกล้ามเนื้อที่ไม่สัมพันธ์กับท่าทางที่เหมาะสมกับกีฬานั้นๆ การขาดทักษะในการเคลื่อนไหวที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละประเภทกีฬา ซึ่งต้องอาศัยหลักทางฟิสิกส์ร่วมกับกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของร่างกายที่สัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวอย่างถูกหลักวิธี
- ใช้กล้ามเนื้อระหว่างการเล่นกีฬานั้นๆ ไม่ถูกต้อง/ไม่เหมาะสม ใช้งานซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง หรือมีการใช้งานกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งมากเกินไป
- ขาดการเตรียมความพร้อมก่อนและหลังการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็น
ระยะเวลาการฝึกซ้อมไม่เพียงพอ
รูปแบบการฝึกซ้อมไม่เหมาะสมกับประเภทกีฬานั้นๆ และขาดความต่อเนื่องของการฝึกซ้อม
ไม่มีการยืดกล้ามเนื้อก่อน/หลัง และระหว่างการเล่นกีฬาอย่างถูกต้องและเพียงพอ
ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและถูกวิธีเมื่อได้รับการบาดเจ็บ
- การเลือกใช้ชนิดหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นกีฬาไม่เหมาะสมกับกีฬาแต่ละประเภท เช่น รองเท้า ชุดกีฬา อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกาย
- การฝึกซ้อมไม่เฉพาะเจาะจงกับประเภทกีฬา เนื่องจากผู้ให้คำแนะนำในฝึกซ้อมขาดความรู้ในประเภทกีฬานั้นๆ
- พักผ่อนไม่เพียงพอหลังการออกกำลังกาย

ความสำคัญของกายภาพบำบัดต่อการเล่นกีฬา

กายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างมากต่อการรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยหลังการบาดเจ็บให้กลับมาใช้งานได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการ รวมถึงยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายให้ดียิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากในปัจจุบันสมาคมกีฬาต่างๆ ในประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับตำแหน่งนักกายภาพบำบัด โดยจะมีนักกายภาพบำบัดประจำทีมกีฬาเพื่อให้คำแนะนำและเตรียมความพร้อมในการออกกำลังกาย รักษาและบรรเทาอาการบาดเจ็บระหว่างการซ้อมและการแข่งขัน ประเมินความพร้อมในการลงแข่งขันของนักกีฬา รักษาและฟื้นฟูนักกีฬาหลังการแข่งขันให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์เพื่อเตรียมแข่งขันครั้งต่อไป นอกจากนี้สำหรับนักกีฬาที่มีชื่อเสียงอาจมีนักกายภาพบำบัดประจำตัว เพื่อดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดเฉพาะบุคคลจริงๆ

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่การรักษาและฟื้นฟูเท่านั้น นักกายภาพบำบัดยังมีหน้าที่ในการให้คำแนะนำในการออกกำลังกายอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บระหว่างการเล่นกีฬา ซึ่งหากนักกีฬาปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างถูกต้องตามรูปแบบการใช้งานจริง ส่งผลให้ลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บ รวมถึงยังสามารถดูแลตัวเองไม่ให้กลับมาบาดเจ็บได้อีกด้วย

เป้าหมายในการดูแลทางกายภาพบำบัด

การรักษา
ลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ/เอ็นกล้ามเนื้อ
ลดการเคลื่อนไหวของข้อต่อนั้นๆ (immobilization) ด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ รวมถึงถ้ายังจำเป็นต้องใช้งานต่อเนื่องเนื่องจากการแข่งขัน
ให้คำแนะนำที่ถูกต้องเพื่อลดการใช้งานบริเวณที่มีการอักเสบ
ปรับท่าทางและแนะนำการใช้งานของกล้ามเนื้อที่ถูกวิธี เช่น การลงน้ำหนัก วิธีการเดินด้วยเครื่องช่วย เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้

การฟื้นฟูสมรรถภาพ
ฝึกการรับความรู้สึกของกล้ามเนื้อและเอ็นข้อต่อต่างๆ ให้กลับมาทำงานอย่างถูกต้องหลังจากที่เกิดการบาดเจ็บ แล้วร่างกายตอบสนองต่อการบาดเจ็บด้วยการชดเชยแบบต่างๆ
ให้ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่การทำงานและทักษะการใช้งานของกล้ามเนื้อนั้นๆ แบบเฉพาะเจาะจงในแต่ละท่าทางการเคลื่อนไหว
ปรับท่าทางการทำงานของกล้ามเนื้อให้ถูกต้อง และสอนให้ผู้ป่วยสามารถนำกลับไปฝึกได้เองเพื่อความต่อเนื่องของการฝึกซ้อม
ออกกำลังในท่าทางเฉพาะของกีฬาชนิดนั้นๆ เช่น ท่าวงสวิงกอล์ฟ ท่ากระโดดขึ้นชู้ดลูกบาส ท่าเต้นบัลเล่ต์ เป็นต้น เพื่อเน้นออกกำลังเฉพาะส่วนหรือเพิ่มทักษะการเล่นกีฬาที่สัมพันธ์กับอาการบาดเจ็บ และนำมาปรับเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวองค์รวม

การป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและป้องกันไม่ให้กลับมาเกิดการบาดเจ็บอีก
ให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพโครงสร้างของร่างกายและฟังก์ชั่นการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูกที่ถูกต้อง โดยมีความเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลและประเภทกีฬา
วางแผนการออกกำลังกายด้วยการทดสอบสมรรถนะของกล้ามเนื้อเพื่อนำมาปรับแนวทาง/รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ เช่น ความหนัก จำนวนครั้ง ความถี่ในการออกกำลังกาย เป็นต้น
ให้ความรู้ในการดูแลกล้ามเนื้อทั้งก่อน/หลังและระหว่างการออกกำลังกายให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย และสามารถนำไปใช้ในขณะเล่นกีฬาได้อย่างถูกต้อง
แนะนำอุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ ที่เหมาะสมในการเล่นกีฬา ซึ่งรวมถึงความรู้ในการใช้งานเพื่อไม่ทำให้เกิดการใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง และส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานอย่างผิดๆ ทั้งนี้ในขณะที่ยังมีอาการบาดเจ็บและต้องเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ ในการแข่งขัน การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ เช่น การใส่เฝือกอ่อน อุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ การใช้เทปช่วยพยุง ล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยลดอาการเจ็บปวดระหว่างการแข่งขัน ลดการใช้งานกล้ามเนื้อโดยตรง และช่วยพยุงให้กล้ามเนื้อนั้นใช้งานในส่วนที่ยังทำงานได้บ้างโดยไม่เป็นเพิ่มอาการบาดเจ็บให้กับกล้ามเนื้อนั้นๆ นอกจากนี้เทปช่วยพยุงยังใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อกรณีกล้ามเนื้อได้รับการบาดเจ็บหรือนักกีฬามีโครงสร้างที่ผิดปกติ เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อกลับมาทำงานได้ถูกต้อง ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ

การส่งเสริมสุขภาพ
ให้ความรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการออกกำลังกาย การออกกำลังที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล เช่น การออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก การออกกำลังเพื่อเพิ่มขนาดกล้ามเนื้อ การออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรง การออกกำลังกายผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคข้อต่อต่างๆ ที่ต้องการกลับไปเล่นกีฬาที่ตนเองถนัดและชอบ
แนะนำรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมและถูกต้องในแต่ละบุคคลตามปัญหาและโครงสร้างการทำงานและตามความถนัดของบุคคล โดยเน้นรูปแบบการออกกำลังกายที่ถูกต้องทั้งจำนวน ระยะเวลา และความถี่ (การยืดกล้ามเนื้อ วิธีการออกกำลัง การคลายกล้ามเนื้อ) การปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อได้รับการบาดเจ็บ เช่น การประคบเย็น เป็นต้น


ขอบพระคุณข้อมูลดีๆจาก: https://www.bumrungrad.com/th/rehabi...letic-injuries