Name:  1.jpg
Views: 826
Size:  30.4 KB

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้นได้อย่างไร

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเริ่มจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ต้องหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อเอาชนะทางเดินหายใจที่ตีบแคบ ความดันที่เป็นลบเพิ่มมากขึ้นระหว่างการหายใจเข้าจะทำให้ช่องคอตีบแคบลงกว่าเดิม ทำให้มีการขาดจังหวะในการหายใจได้บ่อยครั้งและแต่ละครั้งนานกว่าคนปกติ ถ้ามีการหยุดหายใจหลายครั้งในขณะนอนหลับจะส่งผลให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดน้อยลง ซึ่งสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย เมื่อสมองขาดออกซิเจนก็จะต้องคอยปลุกให้ผู้ป่วยตื่นเพื่อเริ่มหายใจใหม่ และเมื่อสมองได้รับออกซิเจนเพียงพอแล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถหลับลึกได้อีกครั้ง แต่ต่อมาการหายใจก็จะเริ่มขัดขึ้นอีก สมองก็ต้องปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นใหม่ วนเวียนเช่นนี้ตลอดคืน เป็นผลให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่เต็มที่

ท่านควรมาปรึกษาแพทย์เมื่อไร

อาการนอนกรนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ถือว่าเป็นโรค แต่เมื่อใดที่อาการนอนกรนทำให้เกิดปัญหาต่อคู่นอน สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน หรือมีผลต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของบุคคลนั้นแล้ว ก็มีความจำเป็นที่ต้องมาปรึกษาแพทย์
เมื่ออาการนอนกรนเกิดร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ เพราะการที่แพทย์สามารถตรวจหาสาเหตุของโรคและพิจารณาวางแผนการรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดอันตรายที่จะเกิดกับอวัยวะและระบบต่างๆที่สำคัญของร่างกายได้ ดังนั้นเมื่อท่านมีอาการดังต่อไปนี้ ซึ่งบ่งบอกถึงการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์

• ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้าไม่สดชื่น หรือมีอาการปวดมึนศีรษะต้องการนอนต่ออีกเป็นประจำ รู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม มีความรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน ทั้งๆ ที่ได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย
• มีอาการง่วงนอนในเวลาทำงานกลางวัน จนไม่สามารถจะทำงานต่อได้ หรือมีอาการเผลอหลับในขณะทำงาน, เข้าห้องเรียน, เข้าฟังประชุม, ขณะขับขี่รถ หรือขณะอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์
• นอนหลับไม่ราบรื่น ฝันร้ายหรือละเมอขณะหลับ นอนกระสับกระส่ายมาก
• มีอาการหายใจขัด หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับ อาจมีอาการคล้ายสำลักน้ำลาย
• มีอาการสะดุ้งผวา หรือ หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ
• ในเด็กอาจมีท่านอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนตะแคง หรือ นอนคว่ำ หรือ อาจไม่มีสมาธิทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน (attention deficit disorder) หงุดหงิดง่าย หรือมีกิจกรรมต่างๆ ทำตลอดเวลา หรือมีปัสสาวะราดในเวลากลางคืน
• มีความดันโลหิตสูงซึ่งยังหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน
• ประสิทธิภาพในการทำงานหรือผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง, ขาดสมาธิ,
พัฒนาการทางสมองและสติปัญญา และความจำแย่ลง
• สมรรถภาพทางเพศลดลง

ขอบพระคุณข้อมูลดีๆจาก: http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor...ail.asp?id=332