“หัวใจ” ของนักกีฬา และผู้ออกกำลังกายประจำ
ในปัจจุบัน มีผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคหัวใจมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรค่อนข้างมาก และมักจะอยู่ในอันดับต้นๆ ในกลุ่มของโรคมะเร็ง และอุบัติเหตุ ท่านผู้อ่านลองนึกย้อนถึงบุคคลในครอบครัว บุคคลในเครือญาติ ในที่ทำงานหรือในตำบล / อำเภอ ที่ท่านอาศัยอยู่ว่ามีใครบ้างที่ต้องรับประทานยาเกี่ยวกับภาวะไขมันสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีใครบ้างที่ต้องไปรับการรักษาแบบคนไข้ใน หรือห้องไอซียู ที่ผมขึ้นต้นไว้อย่างนี้ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้หันมาลองประเมินดูว่า คนเป็นโรคหัวใจ และเสียชีวิตมีมากเพียงใด และในที่สุดท่านจะได้หันมาให้ความสนใจตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลหัวใจของตนเอง
ออกกำลังกายทำให้แข็งแรง
พวกเราทุกคนจะได้รับการบอกกล่าวอยู่เสมอว่า ทุกคนควรจะต้องออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 -4 วัน เป็นอย่างต่ำ แต่ละครั้งให้ใช้เวลาออกกำลังกายมากกว่า 30 นาที ซึ่งจะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง ซึ่งคำว่า “แข็งแรง” คงหมายถึงการไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เหนื่อยง่าย เวลาทำงานที่ต้องออกแรงมากขึ้น หรือทำงานหนักๆ จนทำให้เหนื่อยหอบ แต่ก็หายเหนื่อยหอบได้รวดเร็วเหมือนปกติทั่วไป
การออกกำลังกาย และเล่นกีฬามีผลต่อหัวใจอย่างไร?
อวัยวะที่มีส่วนสำคัญ และพบว่ามีการเปลี่ยนแปลง หากท่านออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็คือหัวใจของเรานั่นเอง การออกกำลังกายโดยการใช้กำลังแขนกำลังขามากขึ้น ร่างกายก็ต้องใช้กล้ามเนื้อของแขน และขามากขึ้น เมื่อใช้กล้ามเนื้อมากขึ้นก็มีความจำเป็นต้องมีเลือด (ที่มีอ๊อกซิเจน และสารอาหาร) มาเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้น เลือดเหล่านี้มาจากไหน? แน่นอนเลือดเหล่านี้ก็ถูกปั๊มออกจากหัวใจของเรานั่นเอง หากเราออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาหนักๆ มากขึ้น ท่านเชื่อหรือไม่ว่าหัวใจของท่านต้องปั๊มเลือดมากขึ้นเป็น 5-8 เท่าทีเดียว มีการศึกษากันว่า ในขณะที่ท่านนอนพักอยู่บนเตียง หัวใจของท่านจะปั๊มเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย ในอัตรา 5 ลิตรต่อนาที ในขณะท่านที่แข็งแรง ออกกำลังกายประจำ หัวใจของท่านจะปั๊มเลือดออกไปมากขึ้นเป็น 25 ลิตรต่อนาที แต่ถ้าหากเป็นนักกีฬาในระดับการแข่งขันนานาชาติหรือระดับโลก อาจเพิ่มเป็น 42 ลิตรต่อนาทีเลยทีเดียว
การที่หัวใจจะทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิม 5-8 เท่าได้นั้น กล้ามเนื้อหัวใจจะต้องมีพลังงานที่มากขึ้นในการบีบตัว เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ทันกับกิจกรรม กีฬา / การออกกำลังกายที่คนคนนั้นกำลังกระทำอยู่ กล้ามเนื้อหัวใจที่แข็งแรงขึ้นนั้นจะต้องถูกฝึกมาเป็นเวลานานพอสมควรจากการเล่นกีฬา หรืออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เราสังเกตได้จากการที่หัวใจของเราเต้นช้าลง หมายถึงจำนวนครั้งที่หัวใจเต้นต่อนาทีจะลดลง เช่นคนปกติทั่วไป หัวใจ (ชีพจร) อาจจะเต้นประมาณ 72 ครั้งต่อนาที ผู้ที่ออกกำลังหรือเล่นกีฬาประจำ หัวใจ (ชีพจร) อาจจะเต้นประมาณ 60 ครั้งต่อนาที ซึ่งแสดงว่าหัวใจเต้นแต่ละครั้งมีประสิทธิภาพดีขึ้น เพราะเดิมต้องเต้นถึง 70 ครั้งต่อนาที เปลี่ยนมาเป็น 60 ครั้งต่อนาที ก็สามารถมีเลือดไปเลี้ยงไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้เพียงพอ โดยเฉพาะการมีเลือดไปเลี้ยงเซลล์เนื้อสมองได้อย่างเพียงพอ มีคนศึกษาปริมาณเลือดที่หัวใจปั๊มออกมาแต่ละครั้ง พบว่าคนทั่วๆ ไปหัวใจปั๊มเลือดออกมาประมาณ 70 ซีซีต่อ 1 ครั้ง และหากเป็นนักกีฬาอาจปั๊มเลือดได้ถึง 140-210 ซีซีต่อครั้งเลยทีเดียว
หลอดเลือดหัวใจตีบตัน?
การที่หัวใจมีพลังที่มากขึ้นเช่นนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อตัวกล้ามเนื้อของหัวใจ คือ มีการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้น เหมือนเช่นการใช้งานของกล้ามเนื้อแขน และขา หากกล้ามเนื้อมัดใดมีการใช้งานมากขึ้น ใช้งานหนักขึ้น กล้ามเนื้อส่วนนั้นก็จะแข็งแรง และมีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น
หลายท่านอาจเคยได้ยินคำว่า “หลอดเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจ” มาก่อน ผมจึงอธิบายให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักชื่อนี้ให้มากยิ่งขึ้น หัวใจมีหน้าที่ปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ และอวัยวะต่างๆ ของร่างกายทั้งหมด โดยขณะเดียวกันก็ต้องมีเลือดไปเลี้ยงตัวกล้ามเนื้อหัวใจให้มากขึ้นด้วย เพราะทำงานหนักขึ้น ปั๊มเลือดออกไปเพิ่มขึ้นได้หลายเท่าตัว ดังนั้น ท่านควรจะพอเข้าใจแล้วว่าหากมีการตีบหรือตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดขึ้น เวลาที่มีความต้องการเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มากขึ้น แต่ปรากฎว่าหัวใจปั๊มเลือดออกไปส่วนอื่นได้ แต่ไม่สามารถเอาเลือดที่มีอ๊อกซิเจน และสารอาหารไปเลี้ยงตัวกล้ามเนื้อหัวใจของตัวเองได้ ก็อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ (Acute Myocardial Infarction) ในบางรายอาจเกิดหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตไปเลยก็มีอยู่บ่อยๆ
การป้องกันไม่ให้มีการตีบตันของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจ สามารถทำได้โดยพยายามไม่ให้ร่างกายของท่านมีไขมันสูงเกินกว่าปกติเป็นเวลานานๆ ไขมันส่วนเกินในร่างกายสามารถที่จะไปตกตะกอนหรือจับอยู่ภายในผนังหลอดเลือดในร่างกายได้ และยิ่งคนเรามีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ หลอดเลือดมีการเสื่อมไปตามวัยไม่มีความยืดหยุ่น ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำจะยิ่งเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหากท่านออกกำลังกายประจำ หลอดเลือดจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไขมันจะมาเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้ยากขึ้น และหากไขมันในเลือดไม่สูง โอกาสที่หลอดเลือดจะตีบตันยิ่งมีน้อยลง ท่านก็จะมีโอกาสที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดได้น้อยลง
ผมหวังว่าประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อหัวใจ (อันเป็นที่รัก) ของทุกๆ คนที่เกิดจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา จากบทความในสัปดาห์นี้คงจะทำให้ทุกๆ ท่านเห็นความสำคัญของการเล่นกีฬา และออกกำลังกายให้สม่ำเสมอมากยิ่งขึ้น สวัสดีครับ
ขอบพระคุณบทความดีๆจาก นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์
แหล่งที่มา: http://www.bangkokhealth.com/health/...%E0%B8%B3-1993