“กายภาพบำบัด” ความจำเป็นสำหรับวงการกีฬา

ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกายภาพบำบัดในการกีฬาประกอบด้วย สภากายภาพบำบัด สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย ชมรมนักกายภาพบำบัดทางการกีฬา มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนที่มีบุคลากรผู้สอนและมีความสนใจด้านกายภาพบำบัดทางการกีฬา คลีนิกกายภาพบำบัดเอกชนที่รับรักษาและให้คำปรึกษาเฉพาะราย สมาคมกีฬาในระดับชาติและชมรมกีฬาทั่วไป

Name:  NewPhoto5.jpg
Views: 46
Size:  69.3 KB

ในส่วนของสภากายภาพบำบัดและสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ซึ่งกายภาพบำบัดทางการกีฬาเป็นสาขาหนึ่ง โดยจัดทำข้อบังคับต่างๆที่เกี่ยวข้องและกำหนดมาตรฐานผู้เชี่ยวชาญกายภาพบำบัดเฉพาะทาง

ชมรมนักกายภาพบำบัดทางการกีฬามีการก่อตั้งมามากกว่า 10 ปี และเป็นการรวมนักกายภาพบำบัดที่มีความสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน และจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะและวิชาการก่อนการจัดการแข่งขันในระดับชาติและนานาชาติที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเกือบทุกครั้ง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับนักกายภาพบำบัดรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้าสู่วงการ และเป็นการประสานงานภายในระหว่างนักกายภาพบำบัดในการเก็บข้อมูลสถิติผู้รับบริการ และประเมิณผลการให้บริการกายภาพบำบัดในแต่ละรายการ ซึ่งนักกายภาพบำบัดที่เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยต่างๆที่เป็นสถาบันผู้ผลิตนักกายภาพบำบัด และนักกายภาพบำบัดจากคลีนิกเอกชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมกิจกรรมด้านการกีฬาของชมรมกายภาพบำบัดที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นลักษณะงานอาสาสมัคร และเกิดจากความสนใจส่วนตัวของนักกายภาพบำบัดแต่ละท่านที่เต็มใจมาร่วมกันปฏิบัติงานในแต่ละเกมส์ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือหลังจบการแข่งขัน นักกีฬาจะไม่ได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่ได้รับการตรวจประเมิณการเคลื่อนไหวที่จำเป็นในชนิดกีฬานั้นๆ และไม่ได้ปรับโปรแกรมการฝึกให้เหมาะสมกับสภาวะการบาดเจ็บทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำขึ้นอีกระหว่างการฝึกซ้อมและอาจสูญเสียโอกาสในการพัฒนาความเป็นเลิศในชนิดกีฬานั้นๆไป
นอกจากนั้นเนื่องจากการพัฒนาคุณภาพและปริมาณของนักกายภาพบำบัดทางการกีฬาที่ผ่านมาและปัจจุบันเป็นการพัฒนาจากความสนใจเฉพาะบุคคลผ่านการสะสมประสบการณ์ และการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับนักกายภาพบำบัดส่วนใหญ่ปฏิบัติงานหลักในสถานพยาบาลและสถาบันการศึกษา ทำให้การปฏิบัติงานทางการกีฬาเป็นงานที่ทำนอกเหนือจากภาระงานปกติจึงทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้ากว่าที่ควร

แนวโน้มและทิศทางการพัฒนา

การพัฒนาให้มีนักกายภาพบำบัดทางการกีฬาในจำนวนที่เหมาะสมกับการพัฒนาการกีฬาของประเทศไทยสามารถทำได้หลายแนวทางดังนี้

- สนับสนุน และสร้างช่องทางให้นักกายภาพบำบัดที่มีความสนใจด้านการกีฬาเข้าไปมีส่วนร่วมในการแข่งขันในระดับต่างๆเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ และเป็นการสร้างบุคลากรให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ต่างๆได้ แนวทางนี้เป็นการสร้างบุคลากรที่จะได้บุคลากรมาปฏิบัติงานในระยะสั้น

- จัดการอบรม พัฒนาระยะสั้นที่สามารถสะสมความรู้และประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดทางการกีฬา ในระยะเริ่มต้นอาจมีความจำเป็นต้องเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ เพื่อเป็นการสร้างฐานความรู้ในระดับที่เป็นมาตรฐานเดียวกับนานาชาติ

- การพัฒนาหลักสูตร เฉพาะทางด้านกายภาพบำบัดทางการกีฬาในสถาบันการศึกษา เป็นหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา โดยจัดให้มีความเชื่อมโยงกับหลักสูตรการอบรมระยะสั้นในข้อ 2
การสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาด้านกายภาพบำบัดทางการกีฬาในประเทศไทย เพื่อพัฒนาบุคลากรรุ่นต่อไปให้มีการนำหลักฐานจากการวิจัยมาใช้ในการปฏิบัติมากขึ้น (Evidence Based Practice) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้ที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับนักกีฬาและประชาชนไทย

- การส่งเสริมให้งานกายภาพบำบัดทางการกีฬาเป็นงานประจำที่มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ (Career Path) ที่มีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน มีการพิจารณาค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสมกับความสามารถ และประสบการณ์ทางคลีนิก

- การส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขากายภาพบำบัดได้มีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพกับทีมกีฬาที่มีนักกายภาพบำบัดประจำ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกงานทางคลีนิก อีกทั้งเป็นการเรียนรู้การทำงานร่วมกับทีมบุคลากรกีฬาอื่นๆ เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาตนเองให้มีความสามารถด้านกายภาพบำบัดทางการกีฬาที่สูงขึ้น

- จัดให้มีการประชุมวิชาการ หรือการสัมมนาประจำปีร่วมระหว่างนักกีฬา ผู้ฝึกสอน วิทยาศาสตร์การกีฬา กีฬาเวชศาสตร์ และกายภาพบำบัดเพื่อส่งเสริมความเข้าใจในหลักการของแต่ละวิชาชีพและพัฒนาความรู้อย่างมีเป้าหมายสอดคล้องกัน

สำหรับนักกายภาพบำบัดของประเทศไทยในปัจจุบันมีประมาณ 5,000 คน มีการผลิตได้ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันปีละ 700 คน ซึ่งในจำนวนทั้งหมดจะต้องใช้ไปในกิจกรรมการรักษาคนไข้อื่นๆ เป็นส่วนใหญ่ นักกายภาพบำบัดทางด้านกีฬายังขาดแคลนอีกเป็นจำนวนมากคงเป็นหน้าที่ของคนในวงการกีฬาทั้งหมดที่ต้องช่วยกันผลักดัน ส่งเสริมให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นให้ได้อย่างรวดเร็ว


ขอบพระคุณบทความดีๆจาก นายแพทย์ ไพศาล จันทรพิทักษ์
ที่มา: http://www.bangkokhealth.com/health/...%E0%B8%B2-2000