วิธีทำสมาธิย่อๆ

การทำสมาธิโดยทั่วไปควรอยู่ในที่สงบจากเสียง หรือจากบุคคล รบกวนทั้งหลาย อาจใช้วิธีนั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวตรง หรืออาจใช้วิธีนั่งพับเพียบก็สุดแต่ความพอใจ ในผู้ที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่า หรือข้อสะโพก อาจใช้นั่งเก้าอี้ทำสมาธิก็ย่อมกระทำได้ ความสำคัญคงอยู่ที่ใจที่เป็นสมาธิมากกว่าท่าทางการนั่งหากมีความจำเป็นเกี่ยวกับร่างกายที่ผิดปกติ

Name:  SS_Yoga-on-grass.jpg
Views: 840
Size:  5.5 KB

การทำสมาธิเป็นการรวบรวมสติเข้ามา กำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ โดยใช้ทางเดินของลมหายใจเข้าออกในการกำหนดทำสมาธิ ลมที่ผ่านเข้าออกจะกระทบที่ปลายกระพุ้งจมูก หรือริมฝีปากบน ซึ่งเป็นจุดที่ลมหายใจออกมากระทบ ท้องก็จะพอง และยุบเป็นจังหวะไป ดังนั้นหายใจเข้าให้กำหนดรู้ตลอดเวลาว่า อากาศผ่านจากปลายกระพุ้งจมูกเข้าไปจนทำให้ท้องพอง ส่วนหายใจออกให้กำหนดรู้ตลอดเวลาว่า อากาศผ่านออกไปตั้งแต่ท้องยุบ จนกระทั่งผ่านปลายกระพุ้งจมูกออกไป ถ้ากำหนดรู้ได้ตลอดเวลาก็จะทำให้ใจมีสมาธิ

นอกจากนี้อาจใช้วิธีนับเป็นตัวเลขดังนี้ หายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ1 หายใจเข้านับ 2 หายใจออกนับ 2 นับไปเรื่อย ๆ จนถึงหายใจเข้านับ 5 หายใจออกนับ 5 แล้วเริ่มต้นนับใหม่หายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 1 นับไปเรื่อย ๆ จนถึงหายใจเข้านับ 6 หายใจออกนับ 6 แล้วเริ่มต้นนับใหม่ หมุนวนอย่างนี้ จนกระทั่งหายใจเข้านับ 10 หายใจออกนับ 10 นับอยู่อย่างนี้หลาย ๆ หน จะทำให้จิตรวมเข้ามาได้ดีพอควรก็ไม่ต้องนับแบบเดิม แต่ให้นับเพียงครั้งเดียว สำหรับการหายใจเข้าและออก 1 ครั้ง เช่นหายใจเข้าและออกครั้งแรกเมื่อเริ่มนับ ให้นับ 1 ครั้งต่อไปหายใจเข้าและออกให้นับ 2 นับเช่นนี้เรื่อยไปถึงนับ 5 เสร็จแล้วเริ่มนับใหม่จาก 1 ถึง 6 วนไปเรื่อย ๆ จนนับ 1 ถึง 10 เมื่อจิตรวมเข้ามาได้ดีแล้วก็เลิกนับ ทำความกำหนดรู้ที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากบนเท่านั้น วิธีนับแบบนี้เป็นวิธีนับที่พระอาจารย์ท่านสอนเอาไว้ในคัมภีร์วิสุทธมรรค สำหรับวิธีการกำหนดอาจใช้ดังนี้ หายใจเข้า พุธ หายใจออก โธ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ หรือหายใจเข้าธัม หายใจออก โม หรือหายใจเข้า สัง หายใจออก โฆ เป็นต้น เมือใจสงบดีก็ให้เลิกกำหนด ทำความกำหนดรู้ที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากบนเท่านั้น ให้กระทำดังนี้ จนจิตรวมเข้ามาให้แน่วแน่ได้นาน ๆ ถ้าท่านเริ่มฝึกปฏิบัติการทำสมาธิแบบขั้นต้นนี้ได้ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อตัวท่านเป็นอย่างมาก ขอให้ท่านที่สนใจโปรดได้นำไปฝึกปฏิบัติต่อไป หรือหาความรู้เพิ่มเติมจากผู้รู้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ท่านสามารถทำสมาธิได้อย่างถูกต้องนะคะ