ยาแก้แพ้
(1) ยาแก้แพ้คืออะไร มีกี่ประเภท ?
ยาแก้แพ้หรือยาแอนตี้ฮิสตามีน antihistamine คือยาที่ป้องกันหรือลดอาการแพ้อันเกิดจากผลของสารฮิสตามีน histamine ต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย ในทางปฏิบัตินิยมแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามผลข้างเคียงหลักของยา ได้แก่ ชนิดที่ทำให้ง่วง (รุ่นเดิม) ซึ่งใช้กันแพร่หลายมานาน ราคาถูก และมีขายอยู่มากมายหลายชนิด เช่น chlorpheniramine diphenhydramine hydroxyzine tripolidine เป็นต้น อีกชนิดหนึ่งเป็นยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง (รุ่นใหม่) ซึ่งมีการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ราคาแพง และมีขายอยู่เพียงไม่กี่ตัวยา ได้แก่ terfenadine astemizole loratadine และ cetirizine ยาแก้แพ้โดยทั่วไปใช้รักษาอาการภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ผื่นคัน เยื่อบุจมูกอักเสบ เยื่อตาอักเสบ ลมพิษเฉียบพลัน ใช้ป้องกันอาการโรคภูมิแพ้ชนิดเยื่อบุจมูกอักเสบที่เกิดเฉพาะฤดูกาล ช่วยระงับหรือลดอาการแพ้ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันผิวหนัง และมักใช้ร่วมในการรักษาอาการโรคหวัด อาการเมารถเมาเรือ โดยรับประทานยาก่อนเดินทางประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้มากพอ ช่วยให้หลับง่าย ใช้แทนยานอนหลับโดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์
(2) หลักการและข้อควรระวังการใช้ยาแก้แพ้
ประการแรกควรรับประทานยาก่อนสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ยังต้องพบกับสารก่อภูมิแพ้ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ฮิสตามีนที่เกิดจากปฏิกริยาภูมิแพ้ ออกฤทธิ์ได้ โดยทั่วไปยาแก้แพ้จะใช้ได้ผลดีกับการป้องกันมากกว่าการระงับอาการแพ้ ดังนั้นในบางกรณีอาจต้องรับประทานยานานหลายเดือน เช่น อาการแพ้ฝุ่นละอองในอากาศ ปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายไป โดยเริ่มจากขนาดต่ำก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นจนได้ผลเป็นที่พอใจ โดยมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด เมื่อเกิดการชินยาแก้แพ้ที่ใช้ให้เปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มใหม่เนื่องจากการชินยาส่วนใหญ่มักจะเกิดกับยาในกลุ่มเดียวกันด้วย
(3) ผลไม่พึงประสงค์ของยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วง (รุ่นเดิม) มีเช่นใดบ้าง ?
ผลไม่พึงประสงค์ของยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วง (รุ่นเดิม) ที่สำคัญคือผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เนื่องจากยาแก้แพ้รุ่นเดิมส่วนใหญ่ผ่านเข้าสมองได้ดี โดยทั่วไปจึงมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมแม้ในขนาดยาที่ใช้รักษาตามปกติ การเกิดอาการง่วงซึมนี้จะมากน้อยตามชนิดยาและการตอบลนองของผู้ใช้ยาแต่ละบุคคล โดยที่ยา diphenhydramine doxylamine และ hydroxyzine ทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้มาก ดังนั้นไม่ควรใช้ยาแก้แพ้ร่วมกับการดื่มสุรา หรือยากดประสาทอื่นๆ เช่นยานอนหลับ ยาคลายกังวล อย่างไรก็ตามผู้ใช้ยาบางรายโดยเฉพาะเด็กทารกอาจเกิดผลกระตุ้นประสาทได้ ทำให้มีอาการตื่นเต้น กระวนกระวาย หรือรุนแรงถึงชักถ้าใช้ขนาดยาสูงเกิน ดังนั้นจึงควรใช้ยาแก้แพ้กับเด็กทารกด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ตัวอย่างยาที่มีผลกระตุ้นประสาทได้แก่ chlorpheniramine tripolidine เป็นต้น นอกจากนี้ผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการปากคอแห้ง ทางเดินหายใจแห้ง ตาพร่า หัวใจเต้นเร็ว อึดอัดหน้าอก ท้องผูก ปัสสาวะไม่ค่อยออก ยาซึ่งมีผลเด่นชัด ได้แก่ chlorcyclizine cyclizine เป็นต้น และไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคหอบหืด ปัสสาวะคั่ง หรือเป็นต้อหิน หรือใช้ร่วมกับยาต้านโรคจิต ยาต้านซึมเศร้า ผลต่อทางเดินอาหาร ทำให้เบื่ออาหาร จุกเสียดยอดอก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน พบบ่อยในผู้ที่ใช้ยาแก้แพ้ pyrilamine tripelennamine อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยาเหล่านี้มีการใช้น้อยมาก
(4) ผลไม่พึงประสงค์และปฏิกิริยาระหว่างยาของยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง (รุ่นใหม่)
ยาในกลุ่มนี้มีความจำเพาะเจาะจงในการออกฤทธิ์ ดังนั้นจึงมีผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบอื่นของร่างกายน้อย อีกทั้งยาเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเข้าสมองจึงไม่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม อย่างไรก็ดีการใช้ยาเหล่านี้มีข้อควรคำนึงหลายประการ คือ ยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วงจะมีประสิทธิภาพดีเฉพาะอาการทางภูมิแพ้เท่านั้น ส่วนยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วงมีฤทธิ์หลายอย่างที่สามารถใช้รักษาอาการอื่นๆ ได้อีก เช่น น้ำมูกไหล เมารถเมาเรือ นอนไม่ค่อยหลับ เป็นต้น ยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง Astemizole ออกฤทธิ์ช้ามากแต่มีฤทธิ์อยู่ได้นาน ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องหลายวันจึงจะเริ่มเห็นผล จึงไม่ควรใช้ Astemizole รักษาอาการแพ้แบบเฉียบพลัน เช่น ลมพิษ ผื่นคัน เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ Astemizole ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ประการสำคัญการใช้ยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วงบางตัว ได้แก่ Terfenadine และ Astemizole กับผู้ป่วยที่เป็นโรคตับหรือใช้ร่วมกับยาซึ่งยับยั้งการทำลายยาของตับ เช่น ยาปฏิชีวนะ Erythromycin ยาต้านเชื้อรา Ketoconazole หรือ Itraconazole อาจทำให้ระดับยาแก้แพ้ในเลือดสูงจนเกิดพิษทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะซึ่งบางครั้งรุนแรงถึงเสียชีวิต ข้อเสียอีกอย่างของยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วงคือมีราคาแพงกว่ายาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วงนับสิบเท่าดังนั้นโดยสรุปยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วงจึงเหมาะสำหรับการใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็น มักใช้เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการง่วงซึมมากจากยาแก้แพ้รุ่นเดิมหรือเมื่อผลข้างเคียงดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ในกรณีเด็กนักเรียน ยาม คนขับรถ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต้องการความตื่นตัวและสมาธิในการทำงาน นอกจากนี้ยังเลือกใช้กับผู้ป่วยสูงอายุซึ่งทนต่อผลข้างเคียงของยาแก้แพ้รุ่นเดิมไม่ได้
(5) คนที่เป็นโรคภูมิแพ้หากต้องใช้ยารักษาอาการแพ้ติดต่อกันนานๆ จะมีผลเสียอย่างไร?
การใช้ยาแก้แพ้เป็นประจำติดต่อกันนาน ๆ เช่น กรณีการป้องกันการแพ้ฝุ่นละอองในอากาศ โดยทั่วไปไม่มีผลเสียร้ายแรง อย่างไรก็ดีควรคำนึงถึงปัจจัยประกอบเหล่านี้ในการเลือกยา ความสะดวกในการใช้ ควรจะเลือกยาที่รับประทานวันละน้อยครั้ง ผลไม่พึงประสงค์ระยะยาว แม้ว่าผลข้างเคียงบางอย่างจะลดลงเมื่อใช้ยาไปนานๆ เช่นอาการง่วงซึม แต่ถ้าต้องใช้ความตื่นตัวในการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรเลือกยาที่มีผลข้างเคียงด้านนี้น้อย การชินยา ซึ่งทำให้ยาที่ใช้อยู่เดิมไม่ได้ผลและต้องเปลี่ยนไปใช้ยาตัวใหม่ ความคุ้มค่า ยาแก้แพ้รุ่นใหม่แม้จะมีข้อดีกว่ายารุ่นเดิม แต่ส่วนใหญ่ราคาแพงและอาจมีข้อเสียที่ยังไม่ทราบในขณะนี้ ดังนั้นการเลือกใช้ยารุ่นใหม่ต้องมีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ
ที่มา: http://www.bangkokhealth.com/health/...E%E0%B9%89-493