การตรวจสมรรถภาพร่างกาย สำคัญอย่างไร

ปัจจุบันการเอาใจใส่สุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง มีผู้คนจำนวนไม่น้อยทราบถึงสุขภาพตนเองก็ต่อเมื่อมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิต และประสิทธิภาพการทำงานลดลง

ผู้คนหลายคนคิดว่าการตรวจเช็คสุขภาพประจำปีทั่ว ๆ ไป ก็เพียงพอในการบ่งบอกประสิทธิภาพร่างกาย ซึ่งไม่เป็นจริงเสมอไป หลาย ๆ ท่านอาจจะพบว่าตนเองออกกำลังเพียงเล็กน้อย หรือทำงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยก็มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลียมาก ทั้ง ๆที่การตรวจเช็คสุขภาพประจำปีอยู่ในเกณฑ์ปกติ เหตุการณ์เหล่านี้พบได้บ่อย ทั้งนี้เนื่องจากการตรวจสุขภาพโดยทั่วไป ที่ประกอบด้วยการเจาะเลือด เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ จะเป็นการตรวจเช็คร่างกายในขณะพักเท่านั้น ไม่ได้ตรวจในขณะที่ร่างกายมีการออกกำลังกายอย่างแท้จริง ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าสมรรถภาพกายดีมากเพียงใด

Name:  running_1.jpg
Views: 34
Size:  29.6 KB

สมรรถภาพทางกายคืออะไร (Physical Fitness)

สมรรถภาพทางกาย หรือ ความฟิต หมายถึง ลักษณะสภาพร่างกายที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง มีความทนทานต่อการปฏิบัติงาน มีความคล่องแคล่วว่องไวในการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี ผู้ที่มีสมรรถภาพร่างกายที่ดีมักจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจร่าเริงแจ่มใส บุคลิกดี ความมั่นใจตัวเองสูง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ตรวจอะไรบ้าง

1. การซักประวัติ และตรวจร่างกายทั่วไป เป็นการตรวจพื้นฐานสภาพร่างกาย ก่อนที่จะเข้าทดสอบ เช่น วัดชีพจร ความดันโลหิต หาค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เป็นต้น รวมถึงการซักประวัติของโรคที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบสมรรถภาพ ซึ่งเป็นการประเมินถึงขีดจำกัด หรือข้อควรระวังในการทดสอบ

2. วัดปริมาณไขมันในร่างกาย โดยใช้เครื่องมือเฉพาะในการวัดความหนาชั้นไขมันใต้ผิวหนังในจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ค่าที่ได้จะบ่งบอกถึงเปอร์เซนต์ไขมันในร่างกาย น้ำหนักตัวที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล

3. ตรวจสมรรถภาพของระบบทางเดินหายใจ เป็นการวัดประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ (ในการแลกเปลี่ยนอากาศเข้าออกจากปอด) ผู้ที่มีสมรรถภาพของปอดดี จะทำให้มีความทนทานในการทำงานได้มากขึ้น ไม่เหนื่อยเร็ว ขณะเดียวกันถ้ามีสมรรถภาพของปอดลดลง ก็อาจบ่งบอกถึงการขาดการออกกำลังกาย หรือมีพยาธิสภาพในปอด จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ที่มีประวัติสูบุหรี่มานาน หรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอด หรือผู้ที่มีปัญหาของระบบทางเดินหายใจ เช่น เหนื่อยง่าย

4. การวัดความอ่อนตัวร่างกาย เป็นการวัดสมรรถภาพของข้อต่อต่าง ๆ รวมทั้งเอ็นและกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อ ผู้ที่มีความอ่อนตัวของข้อต่อน้อย จะมีโอกาสบาดเจ็บจากการทำงาน หรือออกกำลังกายมากกว่าผู้ที่มีสมรรถภาพความอ่อนตัวดี และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการปวดเรื้อรังได้ การตรวจพบและการปฏิบัติตนตามคำแนะนำเบื้องต้น จะช่วยป้องกันและลดการบาดเจ็บของร่างกาย และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และออกกำลังกายได้ดีขึ้น

5. การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นการวัดแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น กำลังของกล้ามเนื้อแขน เป็นต้น

6. ตรวจสมรรถภาพของระบบหัวใจ และการไหลเวียนเลือด เป็นการวัดอัตราการใช้ออกซิเจนขณะออกกำลังกาย ซึ่งจะบ่งชี้ไปถึงประสิทธิภาพของหัวใจ และปอดที่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆในชีวิตประจำวัน

การเตรียมตัวทดสอบสมรรถภาพร่างกาย

- ใช้เวลาในการทดสอบประมาณ 30-45 นาที
- ควรงดอาหารหนักอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง ก่อนมาตรวจ อาจรับประทานอาหารเบา ๆ ได้ และควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น กาแฟ ชา บุหรี่ ฯลฯ
- เตรียมเครื่องแต่งกายที่เหมาะสม (เสื้อผ้าสบาย ๆ มีความคล่องตัวดีไม่คับ หรือหลวมเกินไป)
- ถ้าท่านมีโรคประจำตัว หรืออยู่ระหว่างการใช้ยาอันอาจมีผลต่อการทดสอบ โปรดแจ้งแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ทราบก่อนการทดสอบสมรรถภาพ
- เพื่อความถูกต้องในการทดสอบ ไม่ควรออกกำลังกายใด ๆ มาก่อนในวันนั้น

ที่มา: http://www.bangkokhealth.com/health/...%E0%B8%A3-1882