ดอลลาร์ดิ่งลงในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่น่าผิดหวัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้
ณ เวลา 22.24 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.87% สู่ระดับ 109.09 เยน หลังจากดิ่งลงกว่า 1% แตะระดับ 108.95 เยน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.31% สู่ระดับ 122.98 เยน และดีดตัวขึ้น 0.55% สู่ระดับ 1.1276 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.55% สู่ระดับ 96.44 หลังจากทรุดลงแตะ 96.323 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.ปีที่แล้ว

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.3% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการร่วงลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ. และเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ที่ดิ่งลง 1.0% ในเดือนม.ค.2016
ยอดค้าปลีกที่ร่วงลงในเดือนพ.ค. ได้รับผลกระทบจากการที่ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายด้านพลังงาน ขณะที่ยอดขายในห้างสรรพสินค้าร่วงลง
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนพ.ค. หลังจากที่ดีดตัวขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย.
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ร่วงลง 0.1% ในเดือนพ.ค. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากที่ขยับขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย. และลดลง 0.3% ในเดือนมี.ค.
ดัชนี CPI ที่ปรับตัวลงได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของราคาน้ำมัน และเวชภัณฑ์
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ร่วงลงในเดือนพ.ค.เป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา และเน้นย้ำว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ที่ระดับต่ำ ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัว
หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานขยับขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค. เช่นเดียวกับในเดือนเม.ย.
นักลงทุนจับตาผลการประชุมเฟดในคืนนี้ รวมทั้งการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีนี้ และการปรับลดงบดุลจากปัจจุบันที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์
CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาสสูงถึง 99.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันนี้