เชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักเครื่องดื่มเกลือแร่แน่นอน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเครื่องดื่มเกลือแร่ มีอยู่ 2 ประเภทคือ สำหรับคนที่ท้องเสีย และอีกชนิดนี้คือ สำหรับคนออกกำลังกาย เราเองก็จัดว่าเป็นคนอีกกลุ่มที่ไม่รู้ว่ามี 2 ชนิด เอาเป็นว่าไปไขข้อสงสัยพร้อมกันเลย
ก่อนอื่นก็ต้องมาทำความรู้จักกันใหม่ รื้อความรู้เดิมๆ แล้วมารับรู้อะไรใหม่ๆ เลยละกัน
เครื่องดื่มเกลือแร่มี 2 ประเภท คือ
1. เกลือแร่สำหรับคนที่ท้องเสีย จะเป็นชนิดผงน้ำตาลเกลือแร่ (Oral Rehydration Salt ย่อว่า ORS)
2. เกลือแร่สำหรับคนที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย จะเป็นรูปแบบน้ำ มีขายอยู่ตามท้องตลาดหลายยี่ห้อ หลายรส (Oral Rehydration Therapy ย่อว่า ORT)
จำเป็นไหมต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่?
สำหรับคนที่ท้องเสีย ถือว่าจำเป็นนะ เพราะอาการท้องเสียเป็นภาวะที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ในทันที เพราะฉะนั้นร่างกายของเราจึงต้องการน้ำและเกลือแร่มาทดแทน และสำหรับคนที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ก็จำเป็นเช่นกัน แต่ก็ต้องดูเป็นกรณีไปว่าเราสูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน อุณภูมิตอนนั้นเป็นอย่างไร ใช้เวลาในการออกกำลังกายนานแค่ไหน ออกกำลังกายหนักหรือเปล่า? เช่น เราใช้เวลาในการคาดิโอเกิน 45 นาทีขึ้นไป หรือวิ่งมาราธอนระยะทางไกลๆ คือตรงนี้เราใช้เวลานานแล้ว ออกกำลังกายก็หนักด้วยถือว่าสูญเสียเหงื่อในการออกกำลังกายไปเยอะ คราวนี้ต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ช่วยแล้วล่ะ แต่ก็ต้องดูปริมาณน้ำตาลที่ระบุไว้ข้างขวดด้วยล่ะ ไม่งั้นจะเสียเวลาออกกำลังกายไปฟรีๆ เลย เพราะถ้าดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีปริมาณน้ำตาลมากเกินไป ร่างกายได้รับน้ำตาลมากก็จะก่อให้เกิดความอ้วน แต่คนที่ออกกำลังกายอย่างหนักก็สามารหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ได้เช่นกัน นั่นก็คือ การเลือกดื่มน้ำเปล่าทดแทนน้ำที่เสียไปตอนออกกำลังกาย
ที่นี้มาเจาะลึกเครื่องดื่มเกลือแร่กันบ้าง?
ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสียนั้น จะมีปริมาณเกลือแร่หรือปริมาณโซเดียมจะสูงกว่าเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ส่วนเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย จะมีปริมาณน้ำตาลที่สูงกว่าเกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย
นอกจากนี้เกลือแร่สำหรับคนที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ก็ยังแยกได้อีก 3 ประเภท คือ
1.ไฮโปโทนิก (Hypotonic Sports Drinks) "เสียน้ำน้อยกว่าโซเดียม"
เหมาะสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายในฟิตเนสระดับต่ำถึงปานกลาง ผู้ที่ออกกำลังกายเพื่อการควบคุมน้ำหนัก รวมไปถึงคนที่ชอบวิ่ง เล่นฟุตบอล ในระยะเวลาน้อยกว่า 60 นาที
: ส่วนผสมของสารให้พลังงาน 2-4 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร และโซเดียมน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม
2.ไอโซโทนิก (Isotonic Sports Drinks) "เสียน้ำและโซเดียมเท่าๆ กัน"
เหมาะสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายระดับปานกลางถึงหนัก ในระยะเวลา 30 นาที หรือมากกว่า 60 นาที เกลือแร่ตัวนี้มีคุณสมบัติในการส่งสารน้ำและคาร์โบไฮเดรตเข้าสู่กระแสเลือด
: ส่วนผสมของสารให้พลังงาน 6-8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร และโซเดียม 46-69 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร
3.ไฮเปอร์โทนิก (Hypertonic Sports Drinks) "เสียน้ำมากกว่าโซเดียม"
ประเภทนี้ไม่ค่อยมีสารเกลือแร่ จะเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานแทน ไม่เหมาะกับการดื่มเพื่อทดแทนสารเกลือแร่ในร่างกาย
: ส่วนผสมของสารให้พลังงานมากกว่า 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร
ทีนี้ก็รู้แล้วว่าเกลือแร่ท้องเสียกับเกลือแร่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายไม่เหมือนกัน ขืนถ้าใครท้องเสียแล้วไปดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ออกกำลังกายมีหวังจะกระตุ้นให้เกิดการท้องเสียหนักขึ้นกว่าเดิมอีก ก็เพราะว่าเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ออกกำลังกายมีปริมาณน้ำและเกลือแร่บางชนิดที่สูงกว่า ทำให้ร่างกายดึงน้ำเข้ามาในทางเดินอาหารส่งผลให้ลำไส้บีบมากขึ้น ก็เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้ถ่ายของเหลวมากขึ้นนั่นเอง
ที่มา: https://timeout.siamsport.co.th/health/view/103018