Name:  img2018101617445.jpg
Views: 110
Size:  48.5 KB

ร่างกายต้องการไขมันคิดเป็นพลังงานไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน ซึ่งหนึ่งในอาหารประเภทไขมันที่ร่างกายต้องการ คือ น้ำมัน แม้ในน้ำมันจะมีสารอาหารและพลังงานที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ต้องบริโภคในปริมาณที่พอดี และเลือกใช้ให้เหมาะสม เพราะหากได้รับมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้

น้ำมันตามท้องตลาดมีให้เลือกมากมาย ซึ่งแบ่งได้ 3 กลุ่มหลัก คือ

กลุ่มที่ 1 คือ น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่งสูง เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา

กลุ่มที่ 2 คือ น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งสูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน

กลุ่มที่ 3 คือ น้ำมันพืชและน้ำมันหรือไขมันที่มาจากสัตว์ที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันปาล์มโอเลอิน (น้ำมันจากเนื้อปาล์ม) น้ำมันหมู น้ำมันไก่ และเนย


หลักการ กิน-ใช้ “น้ำมัน” ให้ดีต่อสุขภาพ ไม่เสี่ยงโรค มีดังนี้

1. การปรุงอาหารประเภทผัด ให้ใช้น้ำมันกลุ่มที่ 1 และ 2 เป็นหลัก เพราะถ้าผ่านความร้อนอุณหภูมิสูงมากจะเกิดอนุมูลอิสระได้ง่าย จึงเหมาะกับการปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนปานกลาง เช่น การผัด

2. การปรุงอาหารประเภททอด ให้ใช้น้ำมันกลุ่มที่ 3 หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันกลุ่ม 2 เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง

3. การบริโภคน้ำมันที่ปรุงอาหารในปริมาณที่พอเหมาะนั้นต้องไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และความดันโลหิตสูง

4. อาหารประเภททอดต้องใช้น้ำมันไม่เกิน 2 ครั้ง และไม่ควรนำมาปรุงอาหารต่อเพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับสารก่อมะเร็ง (ข้อมูลจากสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย)


นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทผัด ทอดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ น้ำมันปาล์มโอเลอิน น้ำมันมะพร้าว เนย น้ำมันจากสัตว์ งดการกินอาหารที่มีไขมันทรานส์ ได้แก่ เนยขาว มาการีน ขนมเบเกอรี่ (เพราะจะไปเพิ่มระดับไขมันเลว (LDL) ลดไขมันดี (HDL) ในเส้นเลือด) แล้วเลือกกินอาหารประเภทต้ม นึ่ง ยำ แทน เพื่อช่วยควบคุมไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำมันเกินความจำเป็น


ที่มา: https://timeout.siamsport.co.th/health/view/95406